Saturday, December 20, 2008

งานวิจัย

บทที่ 1
บทนำ
ภูมิหลัง


การคิดเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำรงชีพของมนุษย์ซึ่งจะอยู่ร่วมกันในสังคมจากสังคมเล็กไปจนถึงสังคมที่มีความซับซ้อน ความคิดสร้างสรรค์มีมาแต่กำเนิดในตัวมนุษย์ทุกคน เพียงแต่มีน้อยหรือมากที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การได้รับการอบรมเลี้ยงดู การสั่งสมการเรียนรู้ รวมทั้งการได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เล็กไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ การมีความคิดสร้างสรรค์จะทำให้บุคคลนั้น ๆ สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้รับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆและนำมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม (ลักขณา สริวัฒน์.2549:132)
ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญยิ่งและได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในระยะกว่า 30 ปี ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถที่สำคัญของมนุษย์ซึ่งมีคุณภาพมากกว่าด้านอื่น ๆ และเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ (อารี พันธ์มณี.2540:บทนำ) นอกจากนี้การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ของเด็ก เพราะในช่วง 6 ขวบแรกของชีวิตเป็นระยะที่เด็กมีจินตนาการสูง ศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์กำลังพัฒนา หากเด็กได้รับการจัดประสบการณ์หรือกิจกรรมที่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นลำดับก็เท่ากับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก (เยาวพา เดชะคุปต์.2542:86) การจัดกิจกรรมที่เหมาะสมและต่อเนื่องกันเป็นลำดับ เท่ากับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และความคิดสร้างสรรค์สามารถพัฒนาได้ด้วยการสอน ฝึกฝน และฝึกปฏิบัติที่ถูกวิธี และยิ่งส่งเสริมให้เด็กตั้งแต่เยาว์วัยได้เท่าใด ก็ยิ่งเป็นผลดีขึ้นเท่านั้น (วราภรณ์ รักวิจัย.2535:160-161)
การส่งเสริมและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กปฐมวัยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การจัดกิจกรรมประสบการณ์การสอน การฝึกฝน การทำกิจกรรมศิลปะ การวาดภาพ การให้เด็กฟังนิทาน เล่นเกม การฟังเพลง ปริศนาคำทาย การตั้งคำถามให้เด็กคิดคำตอบหลาย ๆ ทาง การให้เด็กเล่นของเล่นอย่างอิสระ เป็นต้น หลักการสำคัญของวิธีการเหล่านี้เปิดโอกาสให้เด็กได้คิด จินตนาการและแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง (มานพ ถนอมศรี.2538:166-169) ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ มีมากขึ้น ทั้งด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และอื่น ๆ (วรรณี โสมประยูร.2530:128) ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนเรา เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น อุปกรณ์ในการเล่นต่าง ๆ ของเด็กก็มีหลากหลายมากขึ้น จะเห็นได้จากการเล่นมุมต่าง ๆ ในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อน อุปกรณ์การเล่นจะมีเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสีสันที่แปลกตา ซึ่งเด็กจะชอบสิ่งของที่มีสีสันมากกว่าไม่มีสีสันหรือบางทีก็เป็นตัวต่อพลาสติกที่มีหลากหลายซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเด็ก (พัฒนา ชัชพงศ์.ม.ป.ป.:91)
กิจกรรมการเล่นมุมบล็อกเป็นกิจกรรมที่เสรีไม่ตายตัว ในการเล่นผู้เล่นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อมโดยนำประสบการณ์ต่าง ๆ ของตนเองมารวมและปรับให้เข้ากับความรู้เดิม ดังที่ (Jean Piaget,1896-1980 อ้างอิงใน ศรีเรือน แก้วกังวาน.2545:56-57) กล่าวถึง ขั้นตอนการรับรู้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับโลกที่ปรากฏต่อตัวบุคคลนั้น(assimilation)และขั้นตอนการปรับเปลี่ยนแนวความคิดของบุคคลในการรับรู้ข้อมูลใหม่(accommodation) นั่นคือเด็กจะต้องปรับเปลี่ยนสิ่งที่เรียนรู้ใหม่จากสิ่งที่เรียนรู้เดิม กระบวนการเรียนรู้ของใหม่และปรับเปลี่ยนความคิดนี้เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นร่วมกันและสืบเนื่องต่อกันในพัฒนาการของบุคคล ในทำนองเดียวกัน การเล่นในมุมบล็อกของเด็ก ซึ่งต้องใช้ความคิดและเหตุผลที่จะใช้ไม้บล็อก ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ อันเป็นเป้าหมายของการกระทำหรือการเล่นสร้างของเด็ก (เลขา ปิยะอัจฉริยะ.2526:19-21) นอกจากนี้ การเล่นมุมบล็อกยังเป็นการเล่นที่ให้โอกาสเด็กคิดวิธีการเล่นอย่างอิสระ เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเปิดโอกาสให้เด็กแสดงออก และใช้ความคิดอย่างเสรีร่วมกับเพื่อน ๆ จึงนับว่าเป็นวิธีการสำคัญที่ช่วยสนองความต้องการตามธรรมชาติ การให้เด็กแลกเปลี่ยนความคิดที่หลากหลายกับเด็กคนอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการคิด ในปัจจุบันครูส่วนใหญ่ไม่เห็นความสำคัญของมุมไม้บล็อก สอดคล้องกับ ราศี ทองสวัสดิ์ที่ได้เสนอถึงปัญหาในการจัดประสบการณ์การเล่นบล็อกว่าปัญหาในการจัดประสบการณ์ในมุมบล็อกของครูคือครูไม่เห็นความสำคัญและจัดให้เด็กได้เล่นน้อย (ราศี ทองสวัสดิ์.2529:19,90-91) นอกจากนี้จากการสังเกตและสอบถามจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ทำให้เห็นปัญหาว่า โดยทั่วไปครูจะไม่ได้จัดสิ่งของต่าง ๆ ผสมกับบล็อกเพื่อสร้างความสนใจให้เด็กเกิดการเลียนแบบและจำลองสถานการณ์ที่ตนได้เคยประสบมา รวมทั้งการจัดมุมไม้บล็อกจะไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ใด ๆ คงมีเพียงแต่ไม้บล็อกขนาดต่าง ๆ วางไว้ที่มุมจำเจเหมือนทุกวัน (อิชยา แสงบรรเจิดศิลป์.2538:บทนำ)
งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการจัดประสบการณ์บล็อกสำหรับเด็กปฐมวัยเช่น อิชยา แสงบรรเจิด(2538:43) พบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นมุมไม้บล็อกแบบเต็มรูปแบบมีความสามารถทางสติปัญญาสูงขึ้น (จุฬารัตน์ อินนุพัฒน์ 2543:52) พบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นบล็อกแบบเต็มรูปแบบและเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นมุมบล็อกแบบปกติ มีพัฒนาการการพูดไม่แตกต่างกัน จากการศึกษางานวิจัยยังไม่พบว่ามีผลงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการการเล่นบล็อก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์จึงทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษาถึงการจัดประสบการณ์การเล่นมุมบล็อกเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย


ความมุ่งหมายของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาพัฒนาการการเล่นบล็อกของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังการได้รับการจัดกิจกรรมการเล่นบล็อก
2. เพื่อศึกษาพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังการได้รับการจัดกิจกรรมการเล่นบล็อก


ความสำคัญของการวิจัย

ผลของการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ทำให้ทราบถึงพัฒนาการการเล่นบล็อกและพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเล่นบล็อก และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอน ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักเรียนในระดับอนุบาลศึกษา สามารถนำวิธีการจัดกิจกรรมไปใช้ในการพัฒนาการเล่นบล็อกและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กต่อไป

ขอบเขตของการวิจัย
1. ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยค้นคว้าครั้งนี้ เป็นนักเรียน ชาย – หญิง อายุระหว่าง 4 - 5 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 2 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนสาธิตวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
2. กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยค้นคว้าครั้งนี้ เป็นนักเรียน ชาย – หญิง อายุระหว่าง 4 - 5 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 2 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนสาธิตวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์
3. ตัวแปรที่ศึกษา
3.1 ตัวแปรอิสระ คือ การเล่นบล็อก
3.2 ตัวแปรตาม คือ พัฒนาการการเล่นบล็อก และ ความคิดสร้างสรรค์

นิยามศัพท์เฉพาะ
1. เด็กปฐมวัย หมายถึง เด็กที่มีอายุระหว่าง 4 – 5 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 2
2. พัฒนาการการเล่นบล็อก หมายถึง ความสามารถทางการเล่นบล็อกของเด็ก
ปฐมวัย ที่ใช้ชิ้นบล็อกเรียงเป็นสิ่งประดิษฐ์ตามจินตนาการ มีพัฒนาเป็นไปตามลำดับขั้น และจะพัฒนาถึงขั้นที่เหมาะสมกับวัยและวุฒิภาวะของเด็กเองในที่สุด แบ่งเป็น 7 ขั้น ของจอห์นสัน (Johnson ) ดังต่อไปนี้
1. ขั้นถือไปมา บล็อกถูกเด็กถือไปมาตามที่ต่าง ๆ หรือบางทีนำมาวางเป็น
กองอย่างไม่เป็นระเบียบ เด็กยังไม่รู้จักใช้บล็อกก่อสร้าง อย่างไรก็ดี รู้จักใช้มือหยิบจับสำรวจรูปทรงต่าง ๆ ของบล็อก
2. ขั้นกองอย่างเป็นระเบียบ เด็กมักจะก่อเป็นแถวแนวตั้งหรือแนวนอน จะนำบล็อกมา
ต่อกับหอคอยสูง อาจวางซ้อนกันอย่างไม่สม่ำเสมอ และอาจล้มได้เมื่อมีการต่อเติมเพิ่ม เด็กจะคิดต่อเป็นรูปต่างๆ แทนที่จะวางติดกันเป็น บางครั้งเด็กอาจก่อสร้างผสมกันทั้งหอคอยและเป็นแถว ขั้นสร้างสะพาน
3. ขั้นสร้างสะพาน โดยใช้บล็อกสองก้อน ทำเป็นเสา วางเว้นระยะในแนวตั้ง และเชื่อมเสาทั้งสองก้อนด้วยบล็อกก้อนที่ 3 หลังจากที่เด็กได้เล่นบล็อกไปในระยะหนึ่ง เด็กจะพบปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นในขณะที่ก่อสร้าง
4. ขั้นสร้างวงล้อมรอบเสมือนรั้วหรือกำแพง บล็อกจะถูกวางเป็นวงล้อมรอบเสมือนรั้วหรือกำแพง พร้อมทั้งนำความคิด วิธีการ หรือรูปแบบต่าง ๆ ที่เด็กเรียนรู้ผ่านมา มาใช้ประกอบในการก่อสร้าง นอกจากนี้เด็กจะเริ่มมีการต่อเติมรายละเอียด การออกแบบและจำนวนของไม้บล็อกที่ใช้ในการสร้างจะเพิ่มขึ้นตามอายุของเด็ก
5. ขั้นรูปแบบและสมมาตร เด็กเริ่มใช้บล็อกก่อสร้างตามจินตนาการ มีการออกแบบก่อสร้างให้ได้สมดุลและตกแต่งให้มีแบบต่าง ๆ กัน การใช้บล็อกก่อสร้างอย่างสมดุล และมีสัดส่วนรับกัน โดยทั่วไปแล้วเด็กยังไม่ให้ชื่อสิ่งที่เด็กสร้าง
6. ขั้นช่วงแรกเริ่มของการแสดงออกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เด็กเริ่มให้ชื่อสิ่งที่ตนสร้าง
เด็กอาจจะมีการวางแผนให้ชื่อก่อสร้างส่วนใหญ่แล้ว เด็กจะเกิดการเรียนรู้ต่อมาว่าสิ่งก่อสร้างนั้น ๆ สามารถมีชื่อเรียกได้
7. ขั้นช่วงหลังการแสดงออกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เด็กจะแสดงจินตนาการโดยใช้สิ่งที่
เด็กสร้าง เริ่มมีรายละเอียดซับซ้อนมากขึ้น รั้ว หรือกำแพงถูกสร้างเป็นฝาผนังทับ เด็กจะนำเทคนิคต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้ในระยะต้นมาผสมผสานใช้ในการก่อสร้าง จำนวนบล็อกที่ใช้เพิ่มขึ้นรวมทั้งมีการตั้งชื่อ และแสดงจินตนาการหรือพูดถึงสิ่งที่ตนก่อสร้าง
3. กิจกรรมการเล่นบล็อก หมายถึง กิจกรรมที่เด็กเล่นได้อย่างอิสระ ซึ่งมีบล็อก
หลายรูปแบบหลายขนาด ผลิตจากวัสดุต่าง ๆ สามารถนำมาใช้ในการต่อเติมได้ตามความคิดและจินตนาการได้แก่
1. บล็อกตันหรือยูนิคบล็อก (Unit Block)
2. บล็อกกลวง (Hollow Block)
3. บล็อกโต๊ะ (Table Block)
4. วัสดุสนับสนุนการก่อสร้าง (Supplementary building materials)
4. ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง ความสามารถในการทำงานของสมอง ทางการคิด
แก้ไขปัญหา คิดได้อย่างลึกซึ้ง หลายทิศทาง สามารถนำความคิดเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้กับสิ่งต่าง ๆได้ ซึ่งสามารถวัดได้ด้วยแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ จากการวาดภาพของ เจลเลน และ เออร์บันประกอบด้วยความคิด 4 ลักษณะคือ
a. ความคิดริเริ่ม คือความสามารถของเด็กปฐมวัยในการคิดโดยการเล่นบล็อกได้แปลกใหม่ แตกต่างจากความคิดของผู้อื่น
b. ความคิดคล่องแคล่ว คือความสามารถของเด็กปฐมวัยในการคิดโดยการเล่นบล็อกได้ปริมาณมาก
c. ความคิดยืดหยุ่น คือความสามารถของเด็กปฐมวัยในการคิดโดยการเล่นบล็อกอย่างอิสระ ก่อสร้างบล็อกได้หลายวิธีการ รูปแบบความคิดละเอียดลออ คือความสามารถของเด็กปฐมวัยในการเล่นบล็อกที่มีรายละเอียดซับซ้อน


สมมติฐานในการวิจัย

1. เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการการเล่นบล็อกของเด็กปฐมวัย หลังการจัดกิจกรรมการเล่นบล็อกแตกต่างจากก่อนการจัดกิจกรรมการเล่นบล็อก
2. เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย หลังการจัดกิจกรรมการเล่นบล็อกแตกต่างจากก่อนการจัดกิจกรรมการเล่นบล็อก


บทที่ 2
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วยหัวข้องดังต่อไปนี้
1. เอกสารและงานวิจัยเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์
1.1 ความหมายของความคิดสร้างสรรค์
1.2 ความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์
1.3 ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์
1.4 พัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์
1.5 องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์
1.6 องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อความคิดสร้างสรรค์
1.7 บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์
1.8 การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
1.9 อุปสรรคของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
2. เอกสารและงานวิจัยเกี่ยวกับการเล่นบล็อก
2.1 ความหมายและความสำคัญของการเล่นบล็อก
2.2 พัฒนาการการเล่นบล็อก
2.3 คุณค่าของการเล่นบล็อก
2.4 บทบาทครูในการจัดกิจกรรมการเล่นบล็อก
2.5 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเล่นมุมบล็อก


1. เอกสารและงานวิจัยเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์
1.1 ความหมายของความคิดสร้างสรรค์
แอนเดอร์สัน (Anderson.1959:7) ได้ให้ความหมายของความคิดสร้างสรรค์ว่า หมายถึงความสามารถของบุคคลในการคิดแก้ปัญหาด้วยความคิดอย่างลึกซึ้ง ที่นอกเหนือไปจากความคิดอย่างปกติธรรมดา เป็นลักษณะภายในตัวบุคคลที่สามารถจะคิดได้หลายแง่มุม และผสมผสานได้ผลิตผลใหม่ที่ถูกต้องสมบูรณ์
เกตเซล (Getzels.1962:450-455) มีความเห็นสอดคล้องกับกิลฟอร์ด เขากล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นลักษณะการคิดที่หาคำตอบหลาย ๆ คำตอบ เพื่อตอบสนองสิ่งเร้าซึ่งลักษณะเช่นนี้มักจะเกิดขึ้น กับบุคคลที่มีอิสรภาพในการตอบสนองจึงจะสามารถตอบได้มาก
เทเลอร์ (Taylor.1964:108-109) ได้กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถที่จะย้อนกลับเพื่อการแก้ปัญหาแนวทางใหม่ ซึ่งเสนอว่า ความคิดสร้างสรรค์ประกอบด้วยความคิดคล่องแคล่วในการคิด เป็นการกระตุ้นความคิดจากภายในและร่วมกันใช้ความคิดเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและความมั่นใจมากขึ้น ความคิดยืดหยุ่นเป็นการพิจารณาปัญหาได้หลายแง่ และความคิดริเริ่มเป็นการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ในทางที่แปลก
ทอแรนซ์ (Torrance ,E.p. :1964 อ้างอิงใน สุวรรณา ก้อนทอง.2547:31 ) ได้ให้ทัศนะว่าผลของความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่จำเป็นต้องถึงขั้นสูงสุด ดังเช่น การคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ หรือการสร้างทฤษฎีที่ต้องใช้ความคิดด้านนามธรรม แต่อาจจะเป็นขั้นหนึ่งขั้นใดใน 5 ขั้นดังต่อไปนี้
ขั้นที่ 1 เป็นขั้นแสดงออกมาอย่างอิสระในด้านความคิดริเริ่ม โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพของงาน
ขั้นที่ 2 งานที่ได้ผลผลิต ขั้นนี้ต้องอาศัยทักษะบางอย่าง
ขั้นที่ 3 เป็นงานประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำแบบใคร
ขั้นที่ 4 เป็นการปรับปรุงงาน ขั้นที่ 3 ให้ดี
ขั้นที่ 5 เป็นงานที่เกิดจากการคิดสิ่งที่เป็นนามธรรมขั้นสูงสุด เช่น การค้นพบทฤษฎีหรือหลักการใหม่ ๆ
วิชัย วงษ์ใหญ่ (2523:40) ได้ให้ความหมายว่า ความคิดสร้างสรรค์หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการแก้ปัญหาอย่างลึกซึ้ง นอกเหนือไปจากลำดับขั้นของการคิดอย่างปกติ เป็นลักษณะภายในของบุคคล ที่จะคิดได้หลายแง่หลายมุม ประสมประสานกันอันได้ผลิตผลใหม่ที่ต้องสมบูรณ์
ประสาร มาลากุล ณ อยุธยา (2537:20-21) ได้สังเคราะห์คำอธิบายจากแนวคิดและทฤษฎีต่าง ๆ พบว่า ความคิดสร้างสรรค์มีลักษณะตรงกันอยู่ 3 ลักษณะ คือ
1. ความคิดสร้างสรรค์เป็นความคิดแปลกใหม่ แปลก แตกต่างจากเดิมซึ่งอาจเกิดจาก
ความคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือการใช้จินตนาการคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมา
2. เป็นการคิดมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดจากความต้องการของบุคคล หรือความจำเป็นจาก
สิ่งแวดล้อมโดยมีลักษณะของความไวต่อการรับรู้ความรู้สึกถึงปัญหาหรือการคิดค้นปัญหาในแง่มุมหรือรูปแบบที่แตกต่างจากธรรมดา
3. เป็นการคิดที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ มิใช่คิดฟุ้งซ่านให้แปลก ๆ แตกต่างแต่ไร้สาระ
หรือเป็นอันตราย เป็นการคิดแปลกใหม่ที่เหมาะสมกับการแก้ปัญหา มีทางเป็นไปได้และใช้ประโยชน์ได้จริง หรือความคิดหลายทิศหลายทางที่นำไปสู่กระบวนการคิดประดิษฐ์สิ่งแปลกใหม่ รวมทั้งการคิดการค้นพบ วิธีการแก้ปัญหาใหม่ตลอดจน ความสำเร็จในด้านการคิดค้นพบทฤษฎีต่าง ๆ อันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
อารี พันธ์มณี (2540:6) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง กระบวนการทางสมองที่คิด ในลักษณะอเนกนัย อันนำไปสู่การคิดค้นพบสิ่งแปลกใหม่ ด้วยความคิดดัดแปลงปรุงแต่งจากความคิดเดิม ปรุงแต่งจากความคิดเดิมผสมผสานกันให้เกิดสิ่งใหม่ ซึ่งรวมทั้งการประดิษฐ์คิดค้นพบสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนวิธีการคิดทฤษฎี หลักการได้สำเร็จ

1.2 ความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์
เฮอร์ลอค (Hurlock.1972:319) ได้กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์ให้ความสนุกสนานความสุขและความพอใจแก่เด็กมาก ไม่มีอะไรที่ทำให้เด็กรู้สึกหดหู่ ได้เท่ากับงานสร้างสรรค์ของเขาถูกตำหนิ ถูกดูถูก หรือถูกว่าสิ่งของที่เขาสร้างนั้นมาเหมือนของจริง
เจอร์ซิล (Jersild.1972:153-158) กล่าวว่าความคิดสร้างสรรค์มีส่วนช่วยในการส่งเสริมเด็กในด้านต่าง ๆ ได้แก่
1. ส่งเสริมสุนทรียภาพ เด็กจะรู้จักชื่นชมและมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งต่าง ๆ ซึ่งผู้ใหญ่ควรทำ
เป็นตัวอย่าง โดยการยอมรับและชื่นชมในผลงานของเด็ก การพัฒนาสุนทรียภาพแก่เด็ก โดยให้เด็กเห็นว่าทุก ๆ อย่างมีความหมาย การส่งเสริมให้รู้จักสังเกตสิ่งที่แปลกจากสิ่งธรรมดาสามัญ ให้ได้ยินสิ่งที่ไม่เคยได้ยินและหัดให้เด็กสนใจในสิ่งต่าง ๆรอบตัว
2. เป็นการผ่อนคลายอารมณ์ การทำงานสร้างสรรค์เป็นการผ่อนคลายอารมณ์ ลดความ
กดดัน ความคับข้องใจและความก้าวร้าว
3. สร้างนิสัยในการทำงานที่ดีขณะที่เด็กทำงานครูควรสอนระเบียบวินัยและนิสัยที่ดีใน
การทำงานควบคู่ไปด้วย เช่น หัดให้เด็กรู้จักเก็บของเข้าที่ ล้างมือเมื่อทำงานเสร็จ เป็นต้น
4. เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมือ เด็กจะสามารถพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่จากการเล่นการ
เคลื่อนไหว การเล่นบล็อก และการพัฒนากล้ามเนื้อเล็กจากการตัดกระดาษ ประดิษฐ์ภาพ วาดภาพด้วยนิ้วมือ การต่อภาพ การเล่นกระดานตะปู
5. เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจ ค้นคว้า ทดลอง เด็กจะชอบทำกิจกรรมและใช้
วัสดุต่าง ๆ ซ้ำ ๆ กัน เพื่อสร้างสิ่งใหม่ ๆขึ้น ครูจึงควรจัดหาวัสดุต่าง ๆ ไว้ให้เด็กมีโอกาสพัฒนาการทดลองของตน เช่น กล่องยาสีฟัน เปลือกไข่และเศษวัสดุเหลือใช้ เพื่อให้เขาฝึกสมมติเป็นนักก่อสร้าง หรือสถาปนิก
อารี รังสินันท์ (2532:498) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญต่อตนเอง และต่อ
สังคม ดังต่อไปนี้
1. ต่อตนเอง
1.1 ลดความเครียดทางอารมณ์ บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องการแสดงออกอย่าง
อิสระทั้งความคิดและการปฏิบัติ มีความมุ่งมั่นจริงจังในสิ่งที่คิด หากทำได้ตามที่คิดจะทำให้ลดความเครียด และความกังวล เพราะได้ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตนเอง ซึ่งลักษณะต่าง ๆ ที่บุคคลที่สร้างสรรค์ต้องการตอบสนอง ได้แก่ ความอยากรู้ อยากเห็นความสนใจศึกษาค้นคว้า ต้องการเผชิญกับสิ่งที่ท้าทายความสามารถ เป็นต้น
1.2 มีความสนุกสนาน เพลิดเพลินและเป็นสุข บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์เมื่อได้ทำ
ในสิ่งที่ตนคิด ได้เล่น ได้ทดลองกับความคิดจะรู้สึกพอตื่นเต้นกับผลงานที่จะเกิดขึ้นจะทำงานอย่างเพลิดเพลินทุ่มเทอย่างจริงจัง เต็มกำลังเต็มความสามารถและทำอย่างมีความสุขแม้จะเป็นงานหนักแต่จะเป็นเรื่องที่ง่ายและเบา จะเห็นว่าการงานของศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ และนักสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ จะใช้เวลาทำงานติดต่อกันครั้งละหลาย ๆชั่วโมง และทำอย่างต่อเนื่องกันหลายปี จนค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่สามารถผลิตผลสร้างสรรค์ออกมาได้
1.3 มีความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในตนเอง การได้ทำในสิ่งที่ตนคิด ได้ทดลอง ได้
ปฏิบัติจริง เมื่องานนั้นได้ประสบความสำเร็จจะทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในตนเอง หากงานนั้นไม่สำเร็จบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเข้าใจและยอมรับผลที่เกิดขึ้น ได้เรียนรู้และค้นพบบางสิ่งบางอย่างจากความไม่สำเร็จ ช่วงที่จะเป็นพื้นฐานให้เกิดความมุมานะ พยายาม และมีความกล้าที่จะกล้าที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อความสำเร็จต่อไป
2. ต่อสังคม
2.1 ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะผลงานสร้างสรรค์นำมาซึ่งความแปลก
ใหม่ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า ถ้าสังคมหยุดนิ่งจะทำให้สังคมล้าหลัง
2.2 ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ประดิษฐ์กรรมความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เช่น
เครื่องจักร รถยนต์ รถแทรกเตอร์ เครื่องวิดน้ำ เครื่องเก็บผลไม้ เครื่องบด สิ่งเหล่านี้ช่วยในการผ่อนแรงของมนุษย์ได้มาก ช่วยลดความเหนื่อยยาก ลำบากและความทรมานได้มาก ไม่ต้องทำงานหนัก ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น
2.3 ช่วยให้เกิดความสะดวกสบายและรวดเร็ว การค้นพบจักรยาน รถยนต์ เรือ
เครื่องจักร รถไฟ เครื่องบิน ยานอวกาศทำให้การคมนาคมติดต่อกัน การเดินทางขนส่งสะดวกสบายก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
2.4 ความปลอดภัยในชีวิตและการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น การค้นพบทางการแพทย์
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ชีวิตมนุษย์ไม่ต้องเสี่ยงอันตราย การค้นพบยารักษาโรค ป้องกันโรค เช่น การค้นพบวัคซีนต่าง ๆ ทำให้มนุษย์รอดพ้นจากการเป็นโปลีโอ วัณโรค เป็นต้น การค้นพบความรู้ใหม่ ๆ ในเรื่องโภชนาการ การออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพอนามัยต่าง ๆ ทำให้ประชาชนรู้จักปฏิบัติตนในด้านการป้องกัน ดูแลรักษาสุขภาพอนามัยทั้งร่างกายละจิตใจ มีส่วนให้ชีวิตคนยืนยาวขึ้น
2.5 ช่วยประหยัดเวลา แรงงานและเศรษฐกิจ ผลการค้นพบในด้านต่าง ๆ ทาง
วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ การศึกษาการเกษตร ช่วยให้มนุษย์มีเวลามากขึ้น สามารถนำพลังงานไปใช้ทำอย่างอื่นเพื่อก่อให้เกิดรายได้และเพิ่มพูนเศรษฐกิจได้มากขึ้น มีเวลาหาความรู้ชื่นชมกับความงานของสุนทรียภาพและศิลปะได้มากขึ้น
2.6 ช่วยในการแก้ปัญหาสังคม เนื่องจากสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึง
จำเป็นต้องคิดหรือหาวิธีใหม่ ๆ มาใช้แก้ปัญหาให้หมดไป
2.7 ช่วยให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและดำรงไว้ซึ่งมนุษยชาติ ความคิดสร้างสรรค์ด้าน
วิทยาศาสตร์การแพทย์ ศิลปะ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ช่วยยกมาตรฐานการดำเนินชีวิต ทำให้มนุษย์เป็นสุข และสามารถสร้างสรรค์สังคมให้เจริญขึ้นตามลำดับ

1.3 ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์
อารี รังสินันท์ (2532:506-510) กล่าวถึง ทฤษฎีเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ไว้ดังต่อไปนี้
1. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์ตามแนวคิดของนักจิตวิทยาจิตวิเคราะห์
ฟรอยด์ จิตแพทย์ชาวเวียนนา เป็นผู้นำกลุ่ม ให้ความเห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากความ
ขัดแย้งระหว่างแรงขับทางเพศซึ่งผูกผลักดันออกมาโดยจิตใต้สำนึกกับความรู้สึกรับผิดชอบชั่วดีในสังคม ดังนั้นเพื่อให้แรงขับทางเพศได้แสดงออกมา ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อาจเป็นความขัดแย้งเรื่องไม่พึงพอใจในสภาพของตน จึงต้องการปรับสภาพเดิมให้เป็นไปตามที่ตนพอใจ เช่น รุจิรา เด็กวัยรุ่นอายุประมาณ 15 ปี ไม่พอใจสภาพห้องนอนของเธอ เพราะมันเรียบเธอจึงคิดตกแต่งด้วยการติดภาพประดับตามผนังและโยกย้ายเฟอร์นิเจอร์บางชิ้นให้อยู่ในที่ที่เหมาะสมขึ้น เพิ่มแจกันให้ห้องดูสดชื่นสวยงาม ติดม่านหน้าต่างและอื่น ๆ เป็นต้น ฟอรยด์ มีความคิดว่า ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากความขัดแย้งระหว่างแรงขับทางเพศกับความรู้สึกผิดชอบในสังคม แรงขับทางเพศถูกกลั่นกรองออกมาในรูปแบบพฤติกรรมที่สังคมยอมรับเป็นความคิดสร้างสรรค์
2. ทฤษฎีโครงสร้างสมรรถภาพทางสมองหรือทฤษฎีโครงสร้างทางสติปัญญา เป็นแนวทาง
ของกิลฟอร์ด นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ศึกษาวิจัยการวิเคราะห์ตัวประกอบ (Factor Analysis) ทางสติปัญญาเป็นเวลาประมาณ 20 ปีโดยค้นพบความคิดเอกนัยและอเนกนัยเป็นความคิดสร้างสรรค์ ความมีเหตุผล และการแก้ปัญหา กิลฟอร์ด ได้แบ่งสมรรถภาพทางสมองออกเป็น 3 มิติ ดังนี้
มิติที่ 1 เนื้อหา (Content) หมายถึง เนื้อหาข้อมูลหรือสิ่งเร้าที่เป็นสื่อในการคิดที่สมองรับเข้าไปคิดแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะคือ
1. ภาพ (Figural : F) หมายถึง ข้อมูลหรือสิ่งเร้าที่เป็นรูปธรรม หรือเป็นรูปที่แน่นอน ซึ่ง
สามารถรับรู้และทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดได้ เช่น ภาพ เป็นต้น
2. สัญลักษณ์ (Symbolic : S ) หมายถึง ข้อมูลหรือสิ่งเร้าที่อยู่ในเครื่องหมายต่าง ๆ เช่น
ตัวอักษร ตัวเลข โน้ตดนตรี และสัญลักษณ์อื่น ๆ
3. ภาษา (Semantic : M) หมายถึงข้อมูลหรือสิ่งเร้าที่อยู่ในรูปของถ้อยคำที่มีความหมาย
ต่าง ๆ กันใช้ติดต่อสื่อสารได้ เช่น พ่อ แม่ เพื่อน ชอบ โกรธ เสียใจ เป็นต้น
4. พฤติกรรม (Behavior : B) หมายถึงข้อมูลที่แสดงออก กิริยา อาการ การกระทำที่
สามารถสังเกตเห็น รวมทั้งทัศนคติ การรับรู้ การคิด เช่น การยิ้ม การหัวเราะ การสั่นศีรษะ การแสดงความคิดเห็น เป็นต้น
มิติที่ 2 วิธีการคิด (Operation) หมายถึง มิติที่แสดงลักษณะกระบวนการปฏิบัติงาน หรือกระบวนการคิดของสมอง แบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ คือ
1. การรับการเข้าใจ (Cognition : C ) หมายถึงความสามารถทางสมองของบุคคลที่ตีความ
เมื่อเห็นสิ่งเร้าได้
2. การจำ (Memory : M ) หมายถึงความสามารถในการเก็บสะสมความรู้และข้อมูลต่าง ๆ
แล้วสามารถระลึกได้เมื่อต้องการ
3. การคิดแบบอเนกนัย หรือความคิดกระจาย (Divergent Thinking :D) หมายถึง
ความสามารถในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้หลายรูปแบบ หลายแง่หลายมุม
4. การคิดแบบเอกนัยหรือการคิดรวม (Convergent Thinking :N) หมายถึงความสามารถ
ในการคิดหาคำตอบที่ดีที่สุดจากข้อมูลหรือสิ่งเร้าที่กำหนด
5. การประเมินค่า (Evaluation :E ) หมายถึง ความสามารถของบุคคลที่สามารถหาเกณฑ์
ที่สมเหตุสมผล สามารถตัดสินเกี่ยวกับความดีความงามความเหมาะสม สามารถสรุปได้ว่าข้อมูลอื่นใดบ้างที่สอดคล้องกับเกณฑ์ที่ตั้งขึ้น
มิติที่ 3 ผลของการคิด หมายถึง มิติที่แสดงผล (Product) ที่ได้จากการทำงาน การจัดการ
กระทำ วิธีการคิดจากข้อมูลจากเนื้อหา ผลการคิดออกมาในรูปลักษณะต่าง ๆ กัน ดังนี้คือ
1. หน่วย (Unit :U) หมายถึงสิ่งที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวและแตกต่างไปจากสิ่งอื่น ๆ
2. จำพวก (Class :c) หมายถึงประเภท จำพวก หรือกลุ่มของหน่วยที่มีคุณสมบัติหรือ
ลักษณะ
3. ความสัมพันธ์ (Relation :R ) หมายถึง ผลของการเชื่อมโยงความคิดของประเภทหรือ
หลายประเภทเข้าด้วยกัน โดยอาศัยลักษณะบางอย่างเป็นเกณฑ์ ความสัมพันธ์อาจจะอยู่ในรูปของหน่วยกับหน่วย จำพวกกับจำพวก หรือระบบกับระบบ
4. ระบบ (System :S ) หมายถุง การเชื่อมโยงสิ่งเร้า โดยอาศัยกฎเกณฑ์ หรือระเบียบ
แบบแผนบางอย่าง
5. การแปลงรูป (Transformation : T) หมายถึง การเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ดัดแปลง
ตีความ ขยายความ ให้นิยามใหม่ หรือการจัดองค์ประกอบของสิ่งเร้าหรือข้อมูลออกมาในรูปใหม่
โครงสร้างของสมรรถภาพทางสมอง หรือการวัดเชาว์ปัญญาของกิลฟอร์ด แบ่งออกเป็น
120 เซลล์ หรือ 120 องค์ประกอบ โดยในแต่ละตัวจะประกอบด้วยหน่วยย่อยของสามมิติ เรียงจากเนื้อหา วิธีการคิด และผลของการคิด (Content Operation – Product)

3. ทฤษฎีความคิดสร้างสรรค์จากแนวความคิดของนักมนุษยนิยม
มาสโลว์ และ โรเจอร์ ( Abraham H.Maslow and Rogers อ้างอิงใน สุวรรณา ก้อนทอง.
2547:36-38) เป็นผู้มีบทบาทสำคัญของแนวคิดกลุ่มนี้โดยมีความคิดว่า ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นผู้ที่รู้จักตนเองตามสภาพที่เป็นจริง เข้าใจตนเอง ยอมรับตนเองทั้งในส่วนที่บกพร่องและในส่วนดี รู้ทั้งจุดอ่อนและตระหนักในความสามารถของตนเอง พึ่งตนเอง ริเริ่ม และนำตนเองได้ สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ มีอิสรเสรีภาพในการคิด ตัดสินใจ เลือกทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน มองเห็นศักดิ์ศรีคุณค่าของตนเอง และสามารถสร้างสรรค์ตนเองและสังคมให้เกิดประโยชน์สุข
การที่บุคคลสามารถพัฒนาและไปถึงเป้าหมายดังกล่าว กลุ่มมนุษยนิยมเน้นถึงสถานการณ์ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ว่า ต้องประกอบด้วย
1. ภาวะความปลอดภัยทางจิต
1.1 การยอมรับในค่าของคนแต่ละคน
1.2 ไม่มีการตีราคา ประเมินและเปรียบเทียบความคิดเห็นและผลงาน ทุกคนทำงาน
ด้วยความสบายใจ
1.3 ความมั่นใจในตนเอง มีแนวโน้มที่จะตัดสินใจด้วยตนเอง และเต็มใจที่จะ
รับผิดชอบในความสำเร็จหรือความล้มเหลวของตนได้
2. ภาวะที่มีเสรีภาพในการแสดงออก
2.1 มีจิตใจกว้างที่จะเปิดรับประสบการณ์ เต็มใจจะรับรู้ความคิด มีความสนใจต่อ
เหตุการณ์ และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก
2.2 ปรารถนาที่จะเล่นกับความคิด และสิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ
นักมนุษยวิทยามีความเชื่อว่า บุคคลที่รู้จักคนตรงตามสภาพที่เป็นจริง จะสามารถ
พัฒนาศักยภาพของตนให้เต็มที่ ภายใต้ความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ และการมีเสรีภาพในการแสดงออก จะทำให้เกิดผลผลิตสร้างสรรค์ได้
4. ทฤษฎีความคิดสองลักษณะ เป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการทำงานของสมองมนุษย์ มีแนวคิด
เบื้องต้นว่า เผ่าพันธุ์ของมนุษย์อยู่รอดสืบสายมาจนถึงปัจจุบันได้ เพราะมนุษย์มีสมองอันเชี่ยวชาญ ซึ่งเกิดจากการทำงานของสมองที่มีสองส่วน และจากการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับการทำงานของสมองทั้งสองซีก คือ สมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันอย่าเด่นชัดในการรับรู้ความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ
ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการทำงานของสมองซีกขวา ซึ่งทำหน้าที่คิดจินตนาการความคิด แปลก ๆ ใหม่ ๆ ความซาบซึ้งในดนตรี ศิลปะ วรรณคดี เป็นต้น ส่วนสมองซีกซ้ายเป็นส่วนที่คิดและมีการทำงานออกมาเป็นรูปธรรม เช่น การคิดวิเคราะห์ การหาเหตุผล กฎเกณฑ์
ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการทำงานของสมองซีกขวา จะสามารถแสดงหรือบอกให้ผู้อื่นทราบได้ต้องเกิดจากการรวบรวมวิเคราะห์ และหาถ้อยคำของสมองซีกซ้ายเท่านั้น ดังนั้นหากสมองทั้ง 2 ซีก คือ ซีกซ้าย และซีกขวา ได้พัฒนาอย่างเหมาะสมทั้ง 2 ซีก ก็จะสามารถทำคุณประโยชน์ต่าง ๆ แก่มนุษยชาติอย่างมหาศาล ทฤษฎีความคิดสองลักษณะจึงเป็นอีกทฤษฎีหนึ่งในการจัดและพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล
การศึกษาการทำงานของสมองแบ่งออกเป็น 2 ซีก คือ สมองซีกซ้ายและซีกขวา กล่าวคือ สมองซีกขวา จะทำหน้าที่ คิดจินตนาการ คิดสังเคราะห์ และมีแนวโน้มเอียงเข้าหากฎเกณฑ์ของดนตรี และศิลปะ ส่วนสมองซีกซ้าย คิดวิเคราะห์หาเหตุผล โน้มเอียงเข้าหากฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น ถ้าสมองได้รับการพัฒนาให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ทั้ง 2 ด้าน ก็จะสามารถสร้างสรรค์และก่อประโยชน์แก่มนุษยชาติอย่างมหาศาล

1.4 พัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์
ทอร์แรนซ์ (Torrance.1964:87-88) ได้กล่าวถึง พัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์ ไว้ดังนี้
แรกเกิด – 2 ขวบ
ในระยะขวบแรกของชีวิต เด็กเริ่มพัฒนาการด้านจินตนาการ จะเห็นได้จากที่เด็กเริ่มถามชื่อสิ่งต่าง ๆ การพยายามทำสิ่งต่าง ๆ หรือจังหวะเด็กเริ่มแสวงหาโอกาส ทำสิ่งแปลกใหม่ไปกว่าเดิม โดยมีความกระตือรือร้นที่จะทำ ที่จะคิดสำรวจสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น โดยเริ่มชิม ดม สัมผัส ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้สำรวจ โดยการจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มีที่ว่าง มีวัสดุอำนวยต่อการคิดการเล่น จะสามารถช่วยให้เด็กพัฒนาความคิดจินตนาการได้ดี
ระยะ 2-4 ขวบ
เด็กเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากประสบการณ์ตรง แล้วถ่ายทอดประสบการณ์ที่รับรู้ โดยการแสดงออกและจินตนาการ เช่น เด็กไม่เข้าใจทำไมไม่ให้เล่นน้ำร้อน เมื่อเด็กมีโอกาสสัมผัสจับต้องน้ำร้อน ก็จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่เล่นไม่ได้ ในระยะนี้เด็กจะตื่นเต้นกับประสบการณ์ต่าง ๆ เด็กมีช่วงความสนใจสั้น เริ่มรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง และเกิดความเชื่อมั่น แต่การเรียนรู้ใหม่ ๆ อาจทำให้เด็กตกใจ หวาดกลัว ดังนั้น ครู พ่อแม่ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ควรระมัดระวังให้เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเสมอ ของเล่นที่ช่วยส่งเสริมจินตนาการของเด็กได้ดี คือ การเล่นที่ไม่มีโครงสร้างตามตัว เช่น ดินเหนียว ดินน้ำมัน ไม้บล็อก
ระยะ 4-6 ขวบ
ในวัยนี้เป็นวัยที่เด็กมีจินตนาการสูง เด็กเริ่มสนุกสนานกับการวางแผน และการ
คาดคะเนในสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเล่น เด็กเริ่มเล่นเลียนแบบผู้ใหญ่หรือผู้ใกล้ชิด มีความอยากรู้อยากเห็น เด็กจะพยายามค้นหาข้อเท็จจริง เด็กเริ่มเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และเริ่มคิดคำนึงถึงการกระทำของคนที่มีผลต่อบุคคลอื่นจากการเล่น และการแสดงบทบาทสมมติตามจินตนาการ ครู พ่อแม่ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ควรส่งเสริมให้เด็กได้เล่นตามลำพัง เพราะการเล่นตามลำพังจะช่วยพัฒนาการจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้โดยการจัดหาของเล่นต่าง ๆ เช่น วัสดุเหลือใช้ประเภทต่าง ๆ หรือของที่ผู้ใหญ่ไม่ใช้แล้วให้เด็กเล่น

1.5 องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์
กิลฟอร์ด (Guilford.1967:145-151) กล่าวถึง องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ไว้ดังนี้
1. ความคิดริเริ่ม (Originality) หมายถึง ความคิดแปลกใหม่ ไม่ซ้ำกับความคิดของ
คนอื่น และแตกต่างจากความคิดธรรมดา ความคิดริเริ่มอาจเกิดจากความคิดจากเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้แปลกแตกต่างจากที่เคยเห็น หรือสามารถพลิกแพลงให้เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิด ความคิดริเริ่มอาจจะเป็นการนำเอาความคิดเก่ามาปรับปรุงผสมผสานจนเกิดเป็นของใหม่
2. ความคิดคล่องแคล่ว (Fluency) หมายถึง ปริมาณความคิดไม่ซ้ำกันในเรื่องเดียวกัน
แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
2.1 ความคิดคล่องแคล่วทางด้านถ้อยคำ (Word Fluency) เป็นความสามารถใน
การใช้ถ้อยคำ
2.2 ความคิดคล่องแคล่วทางด้านการโยงสัมพันธ์ (Associational Fluency) เป็น
ความสามารถที่จะคิดหาถ้อยคำที่เหมือน หรือคล้ายกัน ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ภายในเวลาที่กำหนด
2.3 ความคิดคล่องแคล่วทางการแสดงออก(Expressional Fluency) เป็น
ความสามารถในการใช้วลีหรือประโยค และนำคำมาเรียงกันอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ได้ประโยคที่ต้องการ
2.4 ความคล่องแคล่วในการคิด (Ideational Fluency) เป็นความสามารถที่จะคิด
ในสิ่งที่ต้องการภายในเวลา ที่กำหนด เช่น ให้คิดประโยชน์ของหนังสือพิมพ์ให้ได้มากที่สุดภายในเวลาที่กำหนดให้
3. ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) หมายถึง ประเภทหรือแบบของการคิด โดยแบ่งเป็น
3.1 ความคิดยืดหยุ่นที่เกิดขึ้นได้ทันที (Spontaneous Flexibility)
เป็นความสามารถที่จะพยายามคิดได้หลายทางอย่างอิสระ สามารถจัดกลุ่มได้หลายทิศทางหรือหลายด้าน
3.2 ความคิดยืดหยุ่นทางการดัดแปลง (Adapter Flexibility) หมายถึง
ความสามารถในการดัดแปลงความรู้หรือประสบการณ์ให้เกิดประโยชน์หลาย ๆ ด้าน ซึ่งมีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา ผู้ที่มีความคิดยืดหยุ่นจะดัดแปลงได้ไม่ซ้ำกัน
4. ความคิดละเอียดลออ (Elaboration ) หมายถึง ความคิดในรายละเอียดเป็นขั้นตอน
สามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ชัดเจน หรือเป็นแผงงานที่สมบูรณ์ขึ้น ความคิดละเอียดลออจัดเป็นรายละเอียดที่นำมาตกแต่ง ขยายความคิดครั้งแรกให้สมบูรณ์ขึ้น





1.6 องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อความคิดสร้างสรรค์
ประสาท อิศรปรีดา (2538 : 8-10) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อความคิดสร้างสรรค์ว่า ไม่ว่าความคิดสร้างสรรค์จะอยู่ในระดับบุคคล ระดับกลุ่มหรือระดับสังคม จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 2 ส่วนเสมอ คือ
1. องค์ประกอบที่เป็นส่วนของความสามารถ (Abilities) หรือทักษะทางการคิด ซึ่งเป็นศักยภาพในตัวบุคคล
2. องค์ประกอบทางแรงจูงใจ (Motivation)
องค์ประกอบดังกล่าว จะอยู่ในลักษณะที่เอื้อซึ่งกันและกันเสมอ คือจะต้องมีทั้งศักยภาพทางการคิด มีความอดทน ความอยากรู้อยากเห็น กล้าเสี่ยง ซึ่งเป็นคุณลักษณ์ทางอารมณ์หรือสภาพแรงจูงใจที่เอื้ออำนวยต่อการคิดสร้างสรรค์ควบคู่ไปด้วยเสมอ ดังนั้นหากบุคคลที่มีศักยภาพทางการคิดได้รับการฝึกให้คิด และได้รับแรงกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจที่จะคิด หรือริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ความก้าวหน้าในการคิดก็จะเกิดขึ้นได้

1.7 บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์
ลักษณะของบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีรายละเอียด ดังนี้
ทอแรนซ์ (Torrance. 1962 : 81 – 82 ) ได้ศึกษาบุคลิกภาพของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง พบว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงเป็นคนที่มีความคิดแปลกไปจากบุคคลอื่น มีผลงานไม่ซ้ำแบบใคร
โล แวนฟิลด์ (Lowenfield.1957 อ้างอิงใน อารี พันธ์มณี.2546:164 ) กล่าวว่า บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์จะทำอะไรแตกต่างไปจากคนอื่น ไม่ชอบการทำงานที่ซ้ำซาก ไม่ชอบทำงานตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ตายตัว แต่ชอบทำงานตามสบายและยิ่งไปกว่านั้นคนที่ชอบสร้างสรรค์จะไม่ชอบทำงานชิ้นเดียวกับคนอื่น เพราะงานที่บุคคลเหล่านี้ทำเป็นงานที่ต้องแก้ปัญหาโดยตนเองตามลำพัง
ครอพเลย์ (Cropley. 1970 : 124) กล่าวว่าผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จะประกอบด้วย 4 ประการ ดังนี้ คือ ประสบการณ์ที่กว้างขวาง (Procession of Wide Categories) เต็มใจและพร้อมที่จะเสี่ยง (Willingness to take Risks) เต็มใจและพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า (Willingness to go ahead) และมีความสามารถที่จะยืดหยุ่นความคิดได้อย่างคล่องแคล่วในระดับสูง
ไรซ์ (Rice. 1970 : 69) กล่าวถึงลักษณะคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ว่า มีลักษณะดังนี้
1. เป็นคนมีไหวพริบ
2. มีความสามารถในการประยุกต์ มีการตอบสนองที่แสดงออกถึงความคิดริเริ่ม มีความยืดหยุ่น
3. มีอิสระในการคิดและแสดงออก
4. สนใจที่จะมีประสบการณ์ต่างๆ และสังเคราะห์สิ่งที่ได้พบเห็นรวมกับความรู้สึกภายในใจ
5. มีความสามารถในการรับรู้
6. มีความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีและเข้าใจในคุณค่าของความงาม
7. รู้จักตนเอง เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของสิ่งต่างๆ
8. เข้าใจในสภาพของตน กระบวนการที่ตนมีส่วนร่วม

อารี พันธ์มณี (2543 : 72) สรุปลักษณะของผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ดังนี้
1. อยากรู้อยากเห็น มีความกระหายใคร่รู้อยู่เป็นนิจ
2. ชอบเสาะแสวงหา สำรวจ ศึกษาค้นคว้าและทดลอง
3. ชอบซักถามและถามคำถามแปลกๆ
4. ช่างสงสัย เป็นเด็กที่มีความรู้สึกแปลกประหลาดใจในสิ่งที่พบ
5. ช่างสังเกต มองเห็นลักษณะที่แปลกผิดปกติ หรือช่องว่างที่ขาดหายไปได้ง่ายและรวดเร็ว
6. ชอบแสดงออกมากกว่าจะเก็บกด ถ้าสงสัยสิ่งใดจะถามหรือพยายามหาคำตอบโดยไม่รั้งรอ
7. อารมณ์ขัน มองสิ่งต่างๆ ในแง่มุมที่แปลก และสร้างอารมณ์ขันอยู่เสมอ
8. สมาธิดีในสิ่งที่ตนสนใจ
9. สนุกสนานกับการใช้ความคิด
10. สนใจสิ่งต่างๆ อย่างกว้างขวาง
11. มีความเป็นตัวของตัวเอง
1.8 การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
ทอแรนซ์ (Torrance. 1979 อ้างอิงใน อารี พันธ์มณี.2546:166-167) ได้เสนอหลักในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ไว้หลายประการ โดยเน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ดังนี้ คือ
1. การส่งเสริมให้เด็กถามและให้ความสนใจต่อคำถามที่แปลกๆ ของเด็กและเขายังเน้นว่า พ่อแม่หรือครูไม่ควรมุ่งที่คำตอบที่ถูกแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในการแก้ปัญหาแม้เด็กจะใช้วิธีเดาหรือเสี่ยงบ้างก็ควรยอม แต่ควรกระตุ้นให้เด็กได้วิเคราะห์ค้นหาเพื่อพิสูจน์การเดาโดยใช้การสังเกตและประสบการณ์ของเด็กเอง
2. ตั้งใจฟังและเอาใจใส่ต่อความคิดแปลกๆ ของเด็กด้วยใจเป็นกลางเมื่อเด็กแสดงความคิดเห็นในเรื่องใด แม้จะเป็นความคิดที่ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน ผู้ใหญ่ก็อย่าเพิ่งตัดสินและลิดรอนความคิดนั้น แต่รับฟังไว้ก่อน
3. กระตือรือร้นต่อคำถามที่แปลกๆ ของเด็กด้วยการตอบคำถามอย่างมีชีวิตชีวา หรือชี้แนะให้เด็กหาคำตอบจากแหล่งต่างๆ ด้วยตนเอง
4. แสดงให้เด็กเห็นว่าความคิดของเด็กนั้นมีคุณค่าและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น จากภาพที่เด็กวาด อาจนำไปเป็นลวดลายถ้วยชาม เป็นภาพปฏิทิน บัตร ส.ค.ส. เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความภูมิใจ และมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์ต่อไป
5. กระตุ้นและส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ควรให้โอกาสและเตรียมการให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง และยกย่องเด็กที่มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูอาจจะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ชี้แนะ ลดการอธิบายและบรรยายลงบ้าง แต่เพิ่มการให้นักเรียนมีส่วนริเริ่มกิจกรรมด้วยตนเองมากขึ้น
6. เปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้ ค้นคว้าอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ โดยไม่ต้องใช้วิธีขู่ด้วยคะแนน หรือการสอบ การตรวจสอบ เป็นต้น
7. พึงระลึกว่า การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในเด็กต้องใช้เวลาพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
8. ส่งเสริมให้เด็กใช้จินตนาการของตนเอง และยกย่องชมเชย เมื่อเด็กมีจินตนาการที่แปลกและมีคุณค่า
ฮอลล์แมน (Hallman. 1971 : 220 – 224) ให้ข้อเสนอแนะสำหรับครู สรุปได้ดังนี้
1. ให้นักเรียนมีโอกาสเรียนรู้ด้วยความริเริ่มของตนเอง จะเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนอยากค้นพบและอยากทดลอง
2. จัดบรรยากาศในการเรียนรู้แบบเสรีให้นักเรียนมีอิสระในการคิดและการแสดงออกตามความสนใจและความสามารถของเขา ครูไม่ต้องทำตัวเป็นเผด็จการทางความคิด
3. สนับสนุนให้นักเรียนเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นด้วยตนเอง
4. ยั่วยุให้นักเรียนคิดหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลในรูปแบบที่แปลกใหม่จากเดิม ส่งเสริมความคิดจินตนาการ ส่งเสริมให้คิดวิธีแก้ปัญหาแปลกๆ ใหม่ๆ
5. ไม่เข้มงวดกับผลงานหรือคำตอบที่ได้จากการค้นพบของนักเรียน ครูต้องยอมรับว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้
6. ยั่วยุให้นักเรียนคิดหาวิธีการหาคำตอบหรือแก้ปัญหาหลายๆ วิธี
7. สนับสนุนให้นักเรียนรู้จักประเมินผลสัมฤทธิ์และความก้าวหน้าของตนด้วยตนเอง มีความรับผิดชอบและรู้จักประเมินตนเอง พยายามหลีกเลี่ยงการใช้เกณฑ์มาตรฐาน
8. ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้ไวต่อการรับรู้ในสิ่งเร้า
9. ส่งเสริมให้นักเรียนตอบคำถามประเภทปลายเปิดที่มีความหมายและไม่มีคำตอบที่เป็นความจริงแน่นอนตายตัว
10. เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เตรียมความคิดและเครื่องมือในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง

1.9 อุปสรรคของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
ซิมเบอร์ก (Simberg. 1971. อ้างอิงใน อารี พันธ์มณี .2546 : 169-173) ได้กล่าวถึง อุปสรรคของความคิดสร้างสรรค์ไว้ดังนี้
ในการพัฒนาความสามารถในการคิดสร้างสรรค์นั้นควรคำนึงถึงอุปสรรคที่สำคัญ 3 ประการ คือ อุปสรรคด้านการรับรู้ (Perceptual Block) อุปสรรคด้านวัฒนธรรม (Cultural Block) และอุปสรรคด้านอารมณ์ (Emotional Block) มีดังนี้
1. อุปสรรคด้านการรับรู้ (Perceptual Block) ได้แก่ การที่คนเราไม่สามารถมองเห็นปัญหาที่แท้จริงได้ เป็นเหตุให้การแก้ปัญหานั้นดำเนินไปโดยปราศจากเป้าหมายที่ชัดเจนและแน่นอน ตัวอย่างของอุปสรรคประเภทนี้ ได้แก่
1.1 ความยากในการจำแนกปัญหาที่แท้จริงจากปัญหาทั่วไป เปรียบเสมือนนายแพทย์ที่พยายามรักษาคนไข้โดยไม่ทราบสาเหตุของโรคที่แท้จริงหรือเปรียบเสมือนนายช่างแก้ไขเครื่องยนต์ติดขัดโดยไม่ทราบจุดบกพร่องของเครื่องยนต์
1.2 การมองปัญหาแคบเกินไป ขาดการพิจารณาสภาพแวดล้อมของปัญหานั้น ซึ่งอาจเป็นด้วยข้อจำกัดในการรับรู้ก็ได้ เช่น มีเลข 9 อยู่ 4 ตัว จะทำอย่างไรจึงจะให้มีค่าเท่ากับ 100 ได้ (คำตอบ 99+9/9)
1.3 ความไม่สามารถที่จะให้คำจำกัดความของนิยามหรือปัญหาเป็นเหตุให้สื่อความเข้าใจให้ไม่ตรงกันได้
1.4 ความไม่สามารถที่จะใช้ประสาทสัมผัสทั้งหลายในการสังเกต ซึ่งมักเข้าใจว่า การสังเกตนั้นเป็นการใช้เพียงตามองเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วสามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมด คือ ตา หู จมูกและกายสัมผัส ช่วยในการสังเกตด้วย
1.5 ความยากที่มองเห็นปัญหาความสัมพันธ์ของวัตถุ เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันน้อย (Remote Relationship) ทำให้ไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาได้
1.6 การมองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวหรือสิ่งที่เด่นชัด ซึ่งบางครั้งความเคยชินกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่คุ้นเคยอาจทำให้มองข้ามประเด็นที่น่าสนใจไปได้
1.7 ความล้มเหลวในการจำแนกเหตุและผล มีหลายสถานการณ์ที่ยากแก่การแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่า อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผลแก่กัน เช่น จากการสังเกตพบว่า นักศึกษาที่เรียนอ่อนมักจะสูบบุหรี่มากกว่านักเรียนที่เรียนเก่ง จึงเป็นปัญหาว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุต่อการเรียนอ่อนหรือไม่หรือการเรียนอ่อนเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดทำให้สูบบุหรี่มากขึ้น หรือทั้งการเรียนอ่อนและการสูบบุหรี่เป็นผลร่วมจากสาเหตุอื่น จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย เป็นต้น ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จะไม่ด่วนสรุปสาเหตุและผลจนกว่าจะรู้แน่ชัดเสียก่อน
2. อุปสรรคด้านวัฒนธรรม (Cultural Block) เป็นผลเนื่องจากกฎเกณฑ์ทางสังคมซึ่งเป็นสิ่งกำหนดให้บุคคลต้องมีพฤติกรรมอยู่ในกรอบระเบียบแบบแผน ทำให้มีผลต่อการสกัดกั้นความท้าทายต่อการคิดค้น และความเปลี่ยนแปลงอันเป็นคุณลักษณะด้านความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล ตัวอย่างของ อุปสรรค์นี้ ได้แก่
2.1 ความต้องการทำตามแบบอย่างในกรอบที่ไม่แตกต่างจากผู้อื่น ทำให้เกิดรูปแบบพฤติกรรมและการมองปัญหาที่คล้ายคลึงกัน การหาวิธีแก้ปัญหา ก็ยึดติดกับระเบียบแบบแผนมากเกินไป ทำให้บางครั้งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตัวอย่างเช่น ให้ลากเส้นตรง 4 เส้น ให้ผ่านจุดที่กำหนดให้ 9 จุด โดยไม่ยกปากกาหรือดินสอ และไม่ขีดซ้ำเส้นตรงที่ขีดแล้ว
ผู้ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้มักจะยึดติดในกรอบความคิดที่ว่าจะต้องลากเส้นตรงภายในกรอบของจุดทั้ง 9 นี้เท่านั้น ทั้งๆ ที่ปัญหาไม่ได้กำหนดไว้เลย
2.2 การเน้นความประหยัดและให้สามารถปฏิบัติได้มากเกินไป ซึ่งมีผลทำให้เกิดการตัดสินใจที่รวดเร็วเกินไป ทำให้บุคคลไม่พยายามที่จะใช้ความคิดของตนในสิ่งที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำกับของเดิม เพราะการกระทำเช่นนี้ต้องลงทุนทั้งเวลาและเงินมากขึ้น ซ้ำไม่แน่ใจในความสำเร็จด้วย
2.3 ความกลัวที่จะเป็นคนไม่สุภาพเรียบร้อย กลัวผู้อื่นเห็นว่าตนเป็นบุคคลที่น่ารำคาญ จึงทำให้ขาดความอยากรู้อยากเห็น ไม่กล้าที่จะซักถามหรืออภิปรายในสิ่งที่ตนยังไม่เข้าใจ ทำให้กลายเป็นคนที่ขาดจิตสำนึกแห่งการสืบค้น
2.4 การมุ่งการแข่งขันหรือความคิดร่วมมือกันมากเกินไป บุคคลทั่วไปมักคิดว่าการร่วมมือกันนั้นแต่ละคนต้องลดความคิดของตนเองลง เพื่อให้สอดคล้องกับความคิดของกลุ่มหรือลดความขัดแย้งลง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ขัดแย้งความจริง ความร่วมมือหมายถึง การทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้โดยต้องสามารถอธิบายหรือชี้แจงความคิดของตนให้ผู้อื่นเข้าใจหรือยอมรับได้ ส่วนการมุ่งแข่งขันกันจนเกินไปนั้นก็มีผลทำให้บุคคลมองข้ามเป้าหมายที่แท้จริงของงานนั้นไป โดยจะมุ่งเอาชนะแต่เพียงอย่างเดียว ทำให้ละเลยความคิดริเริ่มของตนเอง
2.5 การยึดมั่นในสถิติมากเกินไป การยึดมั่นหรือเชื่อในตัวเลขโดยไม่พิจารณาตัวแปรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เข้าใจสภาพความเป็นจริงที่ผิดไปได้ ตัวอย่างเช่น จากรายงานอุณหภูมิใน 1 ปี ของเมืองหนึ่ง เท่ากับ 65 องศาฟาเรนไฮ ถ้าพิสูจน์ตามตัวเลขนี้จะเข้าใจว่าเมืองนี้อุณหภูมิน่าอยู่เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปกลับพบว่าเมืองนี้มีอุณหภูมิตั้งแต่ -22 องศาฟาเรนไฮ ถึง 114 องศาฟาเรนไฮ ความจริงเช่นนี้จะเห็นว่าเมืองไม่น่าอยู่เลย ซึ่งแตกต่างจาก การพิจารณาค่าอุณหภูมิเฉลี่ยในตอนแรก
2.6 ความยากในการสรุปอ้างอิง พฤติกรรมของบุคคลเป็นสิ่งที่ยากต่อการสรุปอ้างอิง เพราะแต่ละคนก็มีพฤติกรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนเองซึ่งแตกต่างกัน จึงเป็นการยากในการพิจารณามอบหมาย งานที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้
2.7 การยึดมั่นเหตุผลและความจริงมากเกินไปหรือการหลงเชื่อความจริงในอดีตมากเกินไป ก็มีผลทำให้บุคคลขาดความคิดสร้างสรรค์ได้ อย่างเช่น ถ้าหากเราเชื่อว่าพาหนะที่เบากว่าอากาศเท่านั้นที่สามารถจะบินได้ จนบัดนี้ยังไม่มีเครื่องบินใช้เป็นแน่
2.8 การขาดความประนีประนอมในความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกันเข้าด้วยกัน ส่วนมากแล้วบุคคลจะมีแนวโน้มที่จะต่อต้าน หรือไม่ยอมรับความคิดที่ไม่ตรงกับตนโดยสิ้นเชิง และจะยอมรับความคิดที่ตรงกับตนในทันที ลักษณะเช่นนี้มีผลทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นมา
2.9 การมีความรู้สึกเกี่ยวกับของข่ายงานที่ปฏิบัติมากหรือน้อยเกินไป บุคคลที่มีความรู้น้อยหรือแคบเกินไปก็ไม่สามารถนำมาอภิปรายและสร้างสรรค์ให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขึ้นมา เช่นเดียวกับ บุคคลที่มีความรู้มากหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ก็มักจะมีความรู้สึกว่าความคิดของตนนั้นถูก
2.10 การมีความเชื่อว่าความคิดฝันเป็นสิ่งที่ไร้ค่า บุคคลจึงไม่ยอมรับฟังความคิดฝันในสิ่งที่แปลกๆ ใหม่ๆ โดยเห็นว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน ไร้สาระ ซึ่งความจริงแล้วประดิษฐ์กรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นส่วนใหญ่ก็มักได้คิดจากความคิดฝันมาก่อนนั่นเอง
3. อุปสรรคด้านอารมณ์ (Emotional Block) จัดเป็นอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่ง ทั้งนี้เพราะอารมณ์ของบุคคล อันได้แก่ ความกลัว ความโกรธ ความรักและความเกลียด เป็นต้น นับว่ามีความสำคัญมากต่อปัญหาและเหตุผลสองสิ่งนี้เปรียบเสมือนหน้าหัวและก้อยของเหรียญ คือ ถ้าหงายเหรียญหน้าใดขึ้นอีกหน้าก็ต้องคว่ำลง นั่นคืออารมณ์จะเป็นตัวสกัดกั้นความคิดและเหตุผล ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ของบุคคล ตัวอย่างของอุปสรรคประเภทนี้ ได้แก่
3.1 ความกลัวที่จะทำผิดหรือทำในสิ่งที่ผู้อื่นมองว่าโง่ ด้วยความกลัวเช่นนี้จึงทำให้สูญเสียความคิดดีๆ ไป เพราะเจ้าของความคิดไม่กล้าที่จะเสนอความคิดนั้นออกมา ด้วยเกรงว่าจะถูกผู้อื่นมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ
3.2 การด่วนที่จะตัดสินใจรับความคิดอันแรกที่เกิดขึ้น โดยไม่เปิดโอกาสคิดหาแนวทางอื่นที่แตกต่างออกไป ความจริงความคิดอันแรกนั้น อาจจะไม่ใช่ความคิดที่ดีที่สุดเสมอไป อาจจะมีความคิดอื่นที่ดีกว่าก็ได้ ถ้ายอมรับเสียตั้งแต่ความคิดอันแรกแล้วก็จะเป็นการสกัดกั้นความคิดอื่นๆ ไป
3.3 การยึดติดกับความคิดของตน บุคคลมักจะยึดติดกับความคิดความเชื่อของตนและยากที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดหรือข้อเสนอแนะของบุคคลอื่น และมักต่อต้านความคิดที่ไม่ตรงกับความคิดของตน
3.4 ความอดทนอดกลั้นต่อการแสวงหาวิธีแก้ปัญหาที่ยาก บุคคลทั่วไปมักจะมีความมุ่งหวังในผลสำเร็จในงานของตนไว้สูง เมื่องานนั้นประสบปัญหาก็จะเกิดความคับข้องใจและมุ่งแก้ปัญหานั้นแบบหัวชนฝา ไม่พยายามที่จะรวบรวมสถิติและความคิดในการหาหนทางอื่นๆ
3.5 ความต้องการความมั่นคงปลอดภัยสูงเกินไป ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าความต้องการสูงเกินไปก็ทำให้เป็นโรคประสาทได้และเมื่อทุกคน ต่างก็มุ่งไปที่ความมั่นคงปลอดภัยของตัวเองแล้ว จะมีผลให้ละเลยต่อโอกาสที่จะรับรู้หรือพิจารณาในสิ่งที่ใหม่อย่างน่าเสียดาย
3.6 ความกลัวต่อการนิเทศ แนะนำและไม่ไว้วางใจเพื่อนร่วมงานความรู้สึกเช่นนี้ทำให้บุคคลขาดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจซึ่งกันและกัน อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการสกัดกั้นความสามารถในการแก้ปัญหาและทำกิจกรรมสร้างสรรค์
3.7 การขาดความพยายามที่จะแก้ปัญหาโดยตลอดจนสำเร็จ บุคคลส่วนมากชอบที่จะดำเนินโครงการใหม่ๆ และให้ความสนใจกับโครงการนั้นในระยะสั้นๆ ในระยะยาวบุคคลมักจะขาดการเอาใจใส่ติดตามแก้ปัญหาและหาวิธีการใหม่ๆ มาดำเนินให้โครงการนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
3.8 การขาดแรงจูงใจในการแก้ปัญหา สาเหตุเนื่องจากขาดผู้เห็นด้วยหรือขาดผู้สนใจในแนวทางแก้ปัญหาที่ตนได้เสมอ อาจเป็นเพราะเขาไม่แน่ใจแนวทางแก้ปัญหานั้นหรือมีความรู้ความเข้าใจไม่ดีพอ จึงมีผลทำให้ผู้เสนอแนวทางที่แก้นั้นขาดแรงจูงใจที่จะคิดต่อไป

2. เอกสารและงานวิจัยเกี่ยวกับการเล่นบล็อก
2.1 ความหมายและความสำคัญของการเล่นบล็อก
จากเอกสารที่ค้นพบจะมีผู้ที่กล่าวถึงไม้บล็อกดังนี้
เยาวพา เดชะคุปต์ (2528:36 อ้างอิงใน อิชยา แสงบรรเจิดศิลป์.2538:28) ได้กล่าวถึง ไม้บล็อกว่าเป็นอุปกรณ์การเล่นอย่างหนึ่งของเด็กซึ่งทำจากไม้ มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกัน สามารถใช้ได้หลายจุดมุ่งหมาย โดยกล่าวถึงชนิดของไม้บล็อกว่ามี 3 ชนิดคือ
1. บล็อกชุด (Unit Block)
2. บล็อกกลวง (Hollow Block)
3. บล็อกเล่นบนโต๊ะ (Table Block)
Essa (1996:540 อ้างอิงใน ศุภกุล เกียรติสุนทร.2549:151) บล็อก คือ อุปกรณ์การเล่นชนิด
หนึ่งซึ่งนำความสนุกสนานแก่ผู้เล่นอย่างไร้ขีดจำกัดบล็อกมีหลายรูปแบบหลายขนาด ผลิตจากวัสดุต่าง ๆ สามารถใช้งานอย่างเดียวหรือนำไปประกอบรวมเข้ากับอุปกรณ์อย่างอื่น โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 4 ประเภท
1. บล็อกตันหรือยูนิคบล็อก (Unit Block)
2. บล็อกกลวง (Hollow Block)
3. บล็อกโต๊ะ (Table Block)
4. วัสดุสนับสนุนการก่อสร้าง (Supplementary building materials)
บล็อกแต่ละประเภทมีลักษณะและการใช้งานแตกต่างกันดังต่อไปนี้
1. บล็อกตันหรือยูนิคบล็อก (Unit Block)
บล็อกตันหรือยูนิคบล็อกทำจากไม้เนื้อแข็ง มีความทนทานออกแบบให้มีรูปทรงทาง
เรขาคณิตที่ประกอบด้วยชื่อและรูปทรงต่าง ๆ
2. บล็อกกลวง (Hollow Block)
ขนาดใหญ่ กลวง ทนทาน เหมาะที่จะใช้เป็นของเล่นทั้งในร่มและกลางแจ้งเป็น
คุณสมบัติของบล็อกประเภทนี้ ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้เด็กมีประสบการณ์ที่แตกต่างจากบล็อกที่มีขนาดเล็กกว่า รูปลักษณ์ที่กำหนดใหม่นี้ส่งผลให้เด็กต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับการจัดการใช้กล้ามเนื้อเล็กในการหยิบ การแบก การวางซ้อน ก่อสร้างผลงานที่ต้องอาศัยทักษะการวางโครงสร้าง และทักษะการสร้างสิ่งก่อสร้าง เด็กจะหยิบ แบก กองบล็อก เป็นระเบียบเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นและมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่สร้างขึ้นราวกับเป็นสิ่งก่อสร้างจริง

3. บล็อกโต๊ะ (Table Block)
บล็อกประเภทนี้มีรูปร่างใกล้เคียงกับยูนิคบล็อก แต่มีขนาดเล็กประมาณ 2-3 เท่าของ
ยูนิคบล็อก จึงเหมาะที่จะจัดหาให้เด็กปฐมวัยเล่นในพื้นที่เล็ก ๆ เช่นบนโต๊ะ เป็นต้น บล็อกโต๊ะมีสีธรรมชาติของไม้เมเปิลซึ่งเป็นวัตถุดิบดั้งเดิมของการผลิต ต่อมามีการวิวัฒนาการสีสันโดยนิยมทาสีสด เช่น ฟ้า เขียว แดง เหลือง ส้ม เป็นต้น ทั่ว ๆ ไปแล้วจะขายเป็นชุด ๆ ละ 30 – 60 ชิ้น
4. วัสดุสนับสนุนการก่อสร้าง (Supplementary building materials)
ผู้ใหญ่บางคนอาจเคยสรรหาตัวต่อสร้างสรรค์มาให้เด็กเล่น โดยที่ไม่รู้ว่าแท้จริงเป็น
บล็อกประเภทหนึ่ง ในที่นี้ขอแยะวัสดุสนับสนุนการก่อสร้างหรือบล็อกประเภทนี้ตามแหล่งที่มาซึ่งแยกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
4.1 บล็อกประดิษฐ์ขึ้นเอง ควรมีน้ำหนักเบาเพื่อให้เด็กสามารถยกและต่อซ้อนกันได้
อาจจะใช้วัสดุหลากชนิดประกอบขึ้น เช่น กล่องกระดาษแข็งชิ้นใหญ่ ๆ หรือกล่องนมขนาดต่าง ๆ โดยตัดด้านบนของกล่องนมออก แล้วยัดไส้ด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หลังจากนั้นสวมทับด้วยกล่องนมอีกกล่องที่ใหญ่กว่า ตัดด้านบนออกเป็นก้น เพื่อทำให้บล็อกที่สร้างขึ้นมีลักษณะปิดทับทุกด้าน พับรอยต่อด้วยกระดาษกาวหรือเทปเพื่อกันการเลื่อนหลุด แล้วจึงห่อด้วยกระดาษ บล็อกประดิษฐ์ชนิดนี้ใช้เล่นชั่วคราว เพื่อเพิ่มสื่อของเล่นที่หลากหลายให้แก่เด็ก แต่ไม่ควรนำมาทดแทนยูนิคบล็อก บล็อกกลวง และบล็อกโต๊ะ
4.2 ตัวต่อพลาสติก ที่รู้จักในนามเครื่องหมายการค้า เลโก้(legos) ดูโพล์ (dupols)
เป็นต้น คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก เลโก้มากที่สุด บล็อกที่มีชื่อทางการค้าเหล่านี้จะมีลักษณะทำนองเดียวกัน เป็นตัวต่อที่สามารถประสานต่อกันได้อย่างลงตัว หรืออาจต่อกันได้ด้วยแรงแม่เหล็ก วัสดุทำมาจากพลาสติกหรือไม่มักมีสีสดใสเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก มีขนาดและรูปร่างต่าง ๆ เหมาะสำหรับเด็กนำมาต่อเล่นตามจินตนาการ บางบริษัทผลิตอุปกรณ์เสริม เช่น ตุ๊กตาคน ล้อรถ ตุ๊กตาสัตว์ เป็นต้น เพื่อช่วยให้การเล่นสมมติของเด็กสมบูรณ์ขึ้น

2.2 พัฒนาการการเล่นบล็อก
การเล่นบล็อกของเด็กปฐมวัยสะท้อนถึงการคิดคำนึงของเด็ก เด็ก ๆ จะใช้ชิ้นบล็อกต่อเรียงเป็นสิ่งประดิษฐ์ตามจินตนาการ ผลงานจากการเล่นบล็อกจึงเป็นสิ่งวิเศษที่สุดที่ได้จากความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก พัฒนาการการเล่นบล็อกไปตามลำดับขั้น เด็กโตที่ไม่เคยเล่นบล็อกจะพัฒนาการเล่นตามลำดับขั้น เช่นเดียวกับเด็กเล็ก เด็กที่มีอายุมากกว่าจะพัฒนาผ่านขั้นต้น ไปได้เร็วกว่าเด็กที่มีอายุน้อย และจะพัฒนาถึงขั้นที่เหมาะสมกับวัย วุฒิภาวะของเด็กเองในที่สุด ( พัชรี ผลโยธิน,2547:8 อ้างอิงใน ศุภกุล เกียรติสุนทร.2549:161) จอห์นสัน (Johnson ,1933:9-25 อ้างอิงใน ศุภกุล เกียรติสุนทร.2549:161) ได้แบ่งพัฒนาการการเล่นบล็อกออกเป็น 7 ขั้นดังต่อไปนี้
1. ขั้นถือไปมา
ขั้นที่ 1 ถือไปมา (carrying) บล็อกถูกเด็กถือไปมาตามที่ต่าง ๆ หรือบางทีนำมาวางเป็น
กองอย่างไม่เป็นระเบียบ พฤติกรรมนี้จะพบในเด็กที่มีอายุน้อย เด็กยังไม่รู้จักใช้บล็อกก่อสร้าง อย่างไรก็ดีประสบการณ์นี้ให้โอกาสเด็กทำความคุ้นเคยกับไม้บล็อก รู้จักใช้มือหยิบจับสำรวจรูปทรงต่าง ๆ ของบล็อก
2. ขั้นกองอย่างเป็นระเบียบ
ขั้นที่ 2 กองอย่างเป็นระเบียบ (stacking) เด็กอายุระหว่าง 2-3 ขวบ เริ่มใช้บล็อก
ก่อสร้าง เด็กมักจะก่อเป็นแถวแนวตั้งหรือแนวนอน เด็กในขั้นนี้มีพฤติกรรมกระทำซ้ำ ๆ ซึ่งพฤติกรรมนี้เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของเด็ก ที่กำลังเรียนรู้การเคลื่อนไหวและภาษา เช่น เราจะพบว่าเด็กชอบปีนป่ายบันไดขึ้นลงซ้ำ ๆ กันหรือขว้างลูกบอลและเมื่อได้คืนมา จะขว้างกลับไปซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่นเดียวกับการเล่นบล็อก เด็กจะนำมาต่อกับหอคอยสูง อาจวางซ้อนกันอย่างไม่สม่ำเสมอ และอาจล้มได้เมื่อมีการต่อเติมเพิ่มจำนวนให้สูงขึ้น หรือต่อเป็นแถวยาวตามแนวนอน ในระยะต่อมาเมื่อเด็กเริ่มใช้มือได้คล่องขึ้น เด็กจะคิดต่อเป็นรูปต่างๆ แทนที่จะวางติดกันเป็นแถว เด็กอาจจะเว้นระยะห่างระหว่างไม้บล็อก หรือเลือกบล็อกขนาดต่าง ๆ มาต่อ หรือเลือกใช้เพียงขนาดเดียว บางครั้งเด็กอาจก่อสร้างผสมกันทั้งหอคอยและเป็นแถว ประสบการณ์ของเด็กในขั้นนี้จะทำให้เด็กค้นพบการสร้างฝาผนังจากหอคอย และสร้างพื้นจากการต่อบล็อกเป็นแถว
3. ขั้นสร้างสะพาน
ขั้นที่ 3 สร้างสะพาน (bridging) การสร้างสะพานโดยใช้บล็อกสองก้อน ทำเป็นเสา
วางเว้นระยะในแนวตั้ง และเชื่อมเสาทั้งสองก้อนด้วยบล็อกก้อนที่ 3 หลังจากที่เด็กได้เล่นบล็อกไปในระยะหนึ่ง เด็กจะพบปัญหาต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นในขณะที่ก่อสร้าง ปัญหาที่พบระยะแรกคือ การสร้างสะพาน การที่เด็กวางไม้บล็อก 2 ก้อนในแนวตั้ง โดยเว้นช่องว่างระหว่างไม้และทำหลังคาให้ช่องว่างด้วยบล็อกอีกก้อนนั้น เด็กจะพบปัญหาคือ ไม่สามารถต่อสะพานได้ บางครั้งเป็นสิ่งยากที่เด็กจะวางไม้ ก้อนให้ห่างกันได้ระยะพอเหมาะ เพื่อให้ไม้ก้อนที่สามารถเชื่อมเป็นสะพานได้ เด็กที่เล็กมาอาจจะยอมแพ้ เด็กบางคนอาจพยายามสร้างแต่ไม่สำเร็จ เด็กบางคนต่อสะพานสำเร็จในลักษณะต่างกันออกไป แต่เมื่อใดก็ตามที่เด็กค้นพบวิธีหรือเทคนิคในการก่อสร้าง เด็กจะเริ่มทำซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมทั้งผสมเทคนิคต่าง ๆ ที่เรียนรู้ในระยะแรก ๆ เข้าด้วยกันโดยมีทั้งหอคอยและสะพาน
4. ขั้นสร้างวงล้อมรอบเสมือนรั้วหรือกำแพง
ขั้นที่ 4 การสร้างวงล้อมรอบเสมือนรั้วหรือกำแพง (enclosures) บล็อกจะถูกวางเป็น
วงล้อมรอบเสมือนรั้วหรือกำแพง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กจะวาง บล็อกชนิดกันเป็นรั้วหรือล้อมรอบพื้นที่ โดยไม่เหมือนช่องว่างระหว่างบล็อก เป็นไปได้ที่เด็กอาจใช้เวลาทั้งเดือนในการสร้าง แต่เมื่อใดก็ตามที่เด็กทำได้ เด็กจะก่อสร้างซ้ำแล้วซ้ำอีกพร้อมทั้งนำความคิด วิธีการ หรือรูปแบบต่าง ๆ ที่เด็กเรียนรู้ผ่านมา มาใช้ประกอบในการก่อสร้าง นอกจากนี้เด็กจะเริ่มมีการต่อเติมรายละเอียด ทำให้เด็กมองเห็นบล็อกเป็นอุปกรณ์การก่อสร้างที่สามารถนำมาต่อเข้าด้วยกันได้ นอกจากนี้จินตนาการ การออกแบบและจำนวนของไม้บล็อกที่ใช้ในการสร้างจะเพิ่มขึ้นตามอายุของเด็ก
5. ขั้นรูปแบบและสมมาตร
ขั้นที่ 5 รูปแบบและสมมาตร(patterns and symmetry) เมื่อเด็กเริ่มใช้บล็อกก่อสร้าง
ตามจินตนาการ มีการออกแบบก่อสร้างให้ได้สมดุลและตกแต่งให้มีแบบต่าง ๆ กัน แสดงให้เห็นว่าบล็อกเป็นวัสดุที่สร้างความพอใจให้เด็ก ในขั้นนี้เราจะสังเกตเห็นการใช้บล็อกก่อสร้างอย่างสมดุล และมีสัดส่วนรับกัน เมื่อด้านใดด้านหนึ่งถูกสร้างขึ้นมาอีกด้านจะถูกสร้างขึ้นด้วยในลักษณะเดียวกัน โดยทั่วไปแล้วเด็กยังไม่ให้ชื่อสิ่งที่เด็กสร้าง
6. ขั้นช่วงแรกเริ่มของการแสดงออกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ขั้นที่ 6 ช่วงแรกเริ่มของการแสดงออกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว (early representation)
เด็กเริ่มให้ชื่อสิ่งที่ตนสร้าง ในระยะแรกก่อนหน้านี้ เด็กอาจใช้ชื่อเพราะครูตั้งคำถามให้ชื่อเพราะ สังเกตเห็นเด็กที่โตกว่าทำ ดังนั้นในเด็กอายุ 3 ขวบ ครูอาจจะพบการตั้งชื่อสิ่งที่เด็กสร้างได้ ส่วนเด็กโตการให้ชื่อเป็นเรื่องปกติ เด็กอาจจะมีการวางแผนให้ชื่อก่อสร้างส่วนใหญ่แล้ว เด็กจะเกิดการเรียนรู้ต่อมาว่าสิ่งก่อสร้างนั้น ๆ สามารถมีชื่อเรียกได้
7. ขั้นช่วงหลังการแสดงออกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
ขั้นที่ 7 ช่วงหลังการแสดงออกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว (later representation) เด็กจะ
แสดงจินตนาการโดยใช้สิ่งที่เด็กสร้าง ซึ่งเด็กถือเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งก่อสร้างจริง ๆ สิ่งที่เด็กสร้างแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ที่เด็กจดจำ หรือระลึกได้ ครูจะสังเกตเห็นว่าหอคอยสะพานต่าง ๆ เริ่มมีรายละเอียดซับซ้อนมากขึ้น รั้ว หรือกำแพงถูกสร้างเป็นฝาผนังทับ เด็กจะนำเทคนิคต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้ในระยะต้นมาผสมผสานใช้ในการก่อสร้าง จำนวนบล็อกที่ใช้เพิ่มขึ้นรวมทั้งมีการตั้งชื่อ และแสดงจินตนาการหรือพูดถึงสิ่งที่ตนก่อสร้าง

ถ้าครูได้สังเกตการณ์เล่นบล็อกของเด็กอายุ 2-6 ปี จะพบว่าพัฒนาการการเล่นบล็อกเป็นไปตามลำดับขั้นช้าเร็วแตกต่างกันออกไปในเด็กแต่ละคน ทัศนคติของครูที่มีต่อบล็อกมีความสำคัญต่อการที่เด็กจะให้ความสนใจในการเล่นบล็อก ครูที่แสดงความกระตือรือร้นให้ความสนใจอย่างจริงจัง จะพบความก้าวหน้าและพัฒนาการ การเล่นบล็อกของเด็กในแต่ละขั้นดังกล่าวมาแล้ว


2.3 คุณค่าของการเล่นบล็อก
การเล่นบล็อกของเด็ก ๆ มีคุณค่ามหาศาล พอที่จะสรุปเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ดังต่อไปนี้
1. ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย ในการเล่นบล็อกเด็กจะต้องนำไม้บล็อกออกจากชั้นที่
เก็บเข้าที่ ยก แบก เพื่อเคลื่อนย้ายบล็อกชิ้นใหญ่ เด็กจึงได้พัฒนากล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็ก การสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่น กำแพง หอคอย เป็นต้น เด็กต้องอาศัยความสมดุลจึงเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา (Beaty,1992:48อ้างอิงใน ศุภกุล เกียรติสุนทร.2549:167) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเขียนหนังสือต่อไป


2. ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ การเล่นบล็อกช่วยให้เด็กได้ระบายความรู้สึกที่มีอยู่ใน
ใจ และสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมดังนี้
2.1 เด็กได้แสดงความรู้สึกต่าง ๆ ออกมา อาจจะเป็นความก้าวร้าว ความกลัว ความ
กังวลใจ เนื่องจากในมุมบล็อก เด็กได้รับอนุญาตให้ส่งเสียงดังได้ เล่นได้เต็มที่ เด็กบางคนถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดจะพังทลายสิ่งก่อสร้างของตนอย่างสนุกสนาน และจะสร้างขึ้นใหม่แล้วทำลายให้พังอีก (ลัดดา นีละมณี.2531:101อ้างอิงใน ศุภกุล เกียรติสุนทร.2549:168) อันเป็นการช่วยระบายความรู้สึกในใจที่เป็นทางลบออกมา
2.2 ความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม เป็นผลพวงจากการเล่นบล็อกของเด็ก
หากได้รับการส่งเสริมการเล่นที่ถูกต้อง โดยธรรมชาติของเด็กจะมีความปรารถนาควบคุมการกระทำต่าง ๆ ของตนเอง และควบคุมสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวด้วยการโยกย้าย หยิบโน่นหยิบนี้ สับเปลี่ยนหรือกำลังควบคุมสิ่งเหล่านั้นหรือสร้างขึ้นมาใหม่ ทำเสียงดัง แสดงความเป็นเจ้าของ (ลัดดา นีละมณี.2531:101-102อ้างอิงใน ศุภกุล เกียรติสุนทร.2549:168) การเล่นบล็อกจะช่วยให้เด็กรู้สึกว่ามีความสามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ การกระทำของตนเองบรรลุความสำเร็จ เพิ่มความสามารถในการตระหนักรู้เกี่ยวกับร่างกายของตนเอง มีความรู้สึกพึงพอใจในผลงานของตนเอง รู้สึกต่อตนเองในทางที่ดีส่งผลให้มองโลกในด้านดี


3. ส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม การเล่นบล็อกมีประโยชน์ต่อทักษะทางสังคม เช่น เพิ่ม
ทักษะปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ผู้ใหญ่ และสิ่งแวดล้อม เรียนรู้วิธีการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเล่น รู้จักแบ่งปัน ประนีประนอม ต่อรอง ร่วมมือหมู่เพื่อนเพื่อที่วางแผนว่าจะสร้างอะไร ทำอย่างไร จากการวิจัยของณัฎฐาพร พงษ์สิงห์(2539:49) ที่ศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมชอบสังคมของเด็กอายุ 5-6 ปี ที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นบล็อกกลางแจ้งอย่างมีแบบแผนจำนวน 15 คน และกลุ่มที่เล่นบล็อกกลางแจ้งอย่างอิสระจำนวน 15 คน พบว่า พฤติกรรมการชอบสังคมของเด็กทั้งสองกลุ่มนี้แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระดับ .01 โดยหลังการทดลองเด็กทั้งสองกลุ่มมีพฤติกรรมทางสังคมสูงกว่าก่อนทดลอง


4. ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านภาษา จากการวิจัยของจุฬารัตน์ อินนุรัตน์ (2543:50-51) ที่
ศึกษาเปรียบเทียบพัฒนาการการพูดของเด็กอายุ 5-6 ปี ที่เล่นมุมบล็อกแบบเต็มรูปแบบ จำนวน 15 คน กับกลุ่มเล่นมุมบล็อกแบบปกติ 15 คน พบว่า พัฒนาการทางการพูดของเด็กทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน และทั้งสองกลุ่มมีพัฒนาการทางการพูดหลังการทดลองทุกสัปดาห์สูงขึ้นกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นอกจากนี้การเล่นบล็อกยังช่วยให้เด็กได้ใช้ภาษาสื่อสารแสดงออกทางความคิด ความเข้าใจของตน เพิ่มพูนคำศัพท์ และเรียนรู้เรื่องทิศทางอันเป็นพื้นฐานของการอ่านเขียนหนังสือ


5. ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา จากการวิจัยของ อิชยา แสงบรรเจิดศิลป์ (2538:43-
44) ที่ศึกษาเปรียบเทียบการเล่นไม้บล็อกของเด็กอายุ 3-4 ปี ที่ได้รับการจัดประสบการณ์เล่นบล็อกแบบเต็มรูปแบบมีความสามารถทางสติปัญญาสูงกว่าเด็กที่เล่นไม้บล็อกแบบปกติทั้งนี้เพราะการเล่นไม้บล็อกแบบเต็มรูปแบบเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสกับสื่อต่าง ๆ มากขึ้น สื่อที่มาจากวัสดุหลากหลายที่ครูจัดสับเปลี่ยนหมุนเวียนอย่างสม่ำเสมอ อันเป็นการกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากอุปกรณ์ที่นำมาประกอบการเล่นบล็อกที่นำมาจากวัสดุต่างชนิดเช่นกล่องกระดาษ รถ ตุ๊กตาคนจำลองที่นำมาจากพลาสติก รวมทั้งน้ำหนัก รูปทรง ผิวของวัสดุเหล่านี้ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประสามสัมผัสแบบบูรณาการ (Wellhousen &Kieff.2001:167อ้างอิงใน ศุภกุล เกียรติสุนทร.2549:169) อันนำไปสู่การสร้างความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เช่น การจำแนกสี ขนาด รูปร่าง การนับจำนวน การวัด เป็นต้น อีกทั้งได้พัฒนาทักษะการคิดในขณะที่เด็กเล่นบล็อก เช่น การคิดวางแผน คิดด้วยเหตุผล คิดเชิงตรรกะ คิดคาดคะเน คิดตัดสินใจ และคิดแก้ปัญหา เป็นต้น

6. ส่งเสริมพัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์ จากการวิจัยของสิริกุล จารุจินดา
(2526:41อ้างอิงใน ศุภกุล เกียรติสุนทร.2549:169) ที่ศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของการเล่นประเภทเสริมต่อพบว่า การเล่นบล็อกของเด็กปฐมวัยมีผลในทางบวกกับคะแนนความสามารถทางความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของบิวตี้ (Beaty.1992:48-49อ้างอิงใน ศุภกุล เกียรติสุนทร.2549:169) ที่ได้จากการสังเกตเด็กปฐมวัยขณะเล่นไม้บล็อกพบว่า ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเกิดจากการใช้จินตนาการและการเล่นบทบาทสมมติ โดยเด็กจะนำข้อมูลที่มีอยู่มาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ขึ้น ด้วยธรรมชาติของเด็กวัยนี้ที่มีความสามารถสร้างรูปแบบใหม่ ๆ ความคิดใหม่ คำใหม่ สิ่งใหม่ต่าง ๆ ด้วยตัวของเด็กเอง ประจวบกับลักษณะของไม้บล็อกไม่มีโครงสร้างที่ตายตัวจึงเอื้ออำนวยให้เด็กนำมาสร้างสิ่งต่าง ๆ ตามที่จินตนาการขึ้น ถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมสิ่งที่เด็กสร้างขึ้นมีลักษณะง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อนแต่สร้างสรรค์ สร้างจากประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมรอบตัว


2.4 บทบาทครูในการจัดกิจกรรมการเล่นบล็อก
ครูเป็นบุคคลสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการการเล่นบล็อกและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กให้สูงขึ้น ครูจึงมีบทบาทในการจัดกิจกรรมการเล่นบล็อกดังต่อไปนี้
1. บรรยากาศที่สร้างสรรค์และผ่อนคลาย
สภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ครูจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัด
สภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้อย่างเหมาะสมต่อการเล่นบล็อกแต่ละประเภทของบล็อก การสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายก็เป็นส่วนหนึ่งของการจัดสภาพแวดล้อม โดยปกติเด็กจะเล่นบล็อกในช่วงเวลากิจกรรมเสรี เด็กใช้เวลาประมาณ 30 นาที ในการวางแผนและเล่นก่อสร้าง และประมาณ 15 นาทีในการเก็บบล็อกเข้าที่ ครูไม่ควรกำหนดเวลาตายตัวสั่งให้เด็กเก็บทันที โดยไม่สนใจความต้องการของเด็ก ครูควรเตือนเด็กล่วงหน้าประมาณ 5 นาที ด้วยคำสั้น ๆว่า “เกือบถึงเวลาเก็บบล็อกแล้ว” หรือ “เกือบถึงเวลาดื่มนมแล้ว” (นิตยา ประพฤติกิจ.2536:106อ้างอิงใน ศุภกุล เกียรติสุนทร.2549:174) แล้วให้เวลาเพียงพอในการเก็บและสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้น ครูอาจร้องเพลงเกี่ยวกับการเก็บของเข้าที่ การที่ครูปฏิบัติเช่นนี้สม่ำเสมอ ช่วยให้เด็กเข้าใจเกี่ยวกับเวลา ระเบียบวินัย ตลอดจนความรับผิดชอบ
2. การสร้างกฎระเบียบในการเล่นบล็อกของเด็ก
ครูและเด็กร่วมกันสร้างกฎระเบียบในการเล่นบล็อก กฎพื้นฐานที่เด็กควรตกลง
ร่วมกัน ได้แก่
2.1 แบ่งปันบล็อกกับเพื่อน ๆ ไม่หยิบบล็อกเป็นของตนเองครั้งละมาก ๆ
2.2 ไม่ใช้บล็อกทำร้ายซึ่งกันและกัน
2.3 ไม่ขว้างปาไม้บล็อก
2.4 ไม่ผลัก ปัด หรือล้มบล็อกที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว ทั้งที่เป็นของตนเองและผู้อื่น
2.5 ไม่หยิบบล็อกของเพื่อนหรือเข้าเล่นสิ่งก่อสร้างของเพื่อน ถ้าไม่ได้รับอนุญาต
2.6 ไม่เดินบนไม้บล็อก หรือเดินเข้าอาณาเขตของการเล่นบล็อกของเพื่อน อันเป็นการ
รบกวนการเล่นก่อสร้างของเพื่อน
2.7 นั่งเล่นในบริเวณที่ครูจัดให้ โดยครูทำเครื่องหมายอาจติดเทปบนพื้นหรือปูเสื่อ
แสดงอาณาเขต โดยช่วงระหว่างอาณาเขตห่างจากที่เก็บบล็อกประมาณ 1-3 ฟุต เพื่อให้โอกาสเด็ก ๆ เข้าไปหยิบบล็อกได้สะดวก
2.8 กำหนดความสูงของการก่อสร้างโดยคำนึงถึงความปลอดภัย อายุ และ
ประสบการณ์ ของเด็ก ควรระบุความสูงให้ชัดเจน เช่น ไม้บล็อกสูงเกินมือเอื้อมถึง สูงแค่ระดับจมูกของเด็ก เป็นต้น
3. การสังเกตนำไปสู่ความเข้าใจและการช่วยเหลือเด็ก
ครูมีความจำเป็นต้องสังเกตขณะที่เด็กเล่น และบันทึกพฤติกรรมการเล่น การวาดภาพ
หรือถ่ายภาพผลงานของเด็ก เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินพัฒนาการการเล่นบล็อกและความคิดสร้างสรรค์ การสังเกตยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กอย่างเหมาะสม โดยปกติครูจะไม่เข้าแทรกแซงการเล่นของเด็ก แต่ถ้าสังเกตพบว่าเด็กไม่พัฒนาการเล่นครูจะต้องเข้าไปช่วย บางครั้งครูอาจจะจำเป็นต้องให้คำแนะนำ เพื่อให้เด็กเกิดทักษะและความรู้ที่เป็นพื้นฐานจากการเล่นบล็อก เช่น รูปทรง ขนาด คุณสมบัติของวัตถุ ความสมดุล ความมั่นคง การจำแนก การจัดกลุ่ม การเรียงลำดับ การจับคู่ เป็นต้น การสังเกตอาจจะพบว่า เด็กบางคนไม่เข้ากลุ่มมุมบล็อกโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ครูควรจูงใจเด็กผู้หญิงให้เข้าเล่น เช่น จัดมุมบล็อกให้ติดกับมุมบ้าน เล่านิทานที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับช่างก่อสร้างผู้หญิงที่มีความสามารถ หรือนำภาพเด็กหญิงก่อสร้างบล็อกไปติดบนแผ่นป้าย (พัชรี ผลโยธิน.2547:20 อ้างอิงใน ศุภกุล เกียรติสุนทร.2549:175)
4. การกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก
ในขณะที่เด็กเล่นบล็อก ครูมีบทบาทสำคัญที่ต้องกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กด้วยวิธีการ
ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
4.1 ครูอาจเข้าไปร่วมเล่นบล็อกกับเด็ก โดยเฉพาะรับครั้งแรก ๆ ของต้นปีการศึกษาครู
จะเข้าไปนั่งในบริเวณมุมบล็อก เด็ก ๆ จะเริ่มเข้ามาเล่น ครูอาจวางบล็อกจำนวน 2 ชิ้นต่อกันเป็นมุมฉากเพื่อกระตุ้นให้เด็กต่อเติม การขยายความสนใจของเด็กให้กว้างขวางขึ้นก็จำเป็นที่ครูอาจหาหนังสือมาให้เด็กค้น หรืออ่านหนังสือให้เด็กฟัง การติดภาพสิ่งก่อสร้างบนป้ายนิเทศระดับสายตาของเด็กในมุมบล็อกก็สามารถกระตุ้นความสนใจของเด็ก การจัดหาอุปกรณ์เสริมการเล่นหรือพาเด็กไปทัศนศึกษาขยายประสบการณ์เกี่ยวกับการก่อสร้างก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน
4.2 การเสริมแรงให้กำลังใจเมื่อเด็กสร้างผลงานเสร็จแล้วเป็นการแสดงออกที่ทำให้
เด็กเห็นคุณค่าและจูงใจให้เล่นบล็อก ครูต้องทำให้เด็กรับรู้ว่ากระบวนการนั้นสำคัญกว่าผลผลิต ครูอาจใช้คำถามหรือคำพูดเกี่ยวกับสิ่งที่เด็กสร้าง ครูควรพูดถึงรายละเอียดในสิ่งที่ครูมองเห็น เด็กจะรู้สึกว่าครูเข้าใจและรับรู้งานของตน ทั้งยังเป็นการสอนความคิดรวบยอดหรือทักษะต่าง ๆ เช่น “หนูใช้บล็อกรูปทรงอะไรก่อสร้างบ้าน” (ลัดดา นีละมณี.2531:105 อ้างอิงใน ศุภกุล เกียรติสุนทร.2550:176) ในขณะที่เด็กเล่าครูต้องตั้งใจฟังอย่างสนใจ และต้องระวังไม่ไปตัดสิน หรือเปรียบเทียบผลงานของเด็กกับเด็กอื่น (พัชรี ผลโยธิน.2547:19 อ้างอิงใน ศุภกุล เกียรติสุนทร.2549:176) พยายามหลีกเลี่ยงคำพูดดังต่อไปนี้
4.2.1 คำพูดที่ไม่มีความหมาย เช่น ดีจัง วิเศษ เป็นต้น
4.2.2 คำถามที่ชี้แนะคำตอบ เช่น หนูสร้างสวนสัตว์ใช่ไหม เป็นต้น
4.2.3 ตั้งชื่อผลงานของเด็ก เช่น ครูว่าหนูสร้างรถไฟแน่เลย เป็นต้น
5. การฝึกให้เด็กเก็บบล็อกเข้าที่
ครูควรฝึกให้เด็กเก็บบล็อกเข้าที่ทุกครั้งที่เล่นเสร็จ ครูอาจแบ่งหน้าที่ให้เด็กเก็บตาม
รูปทรง ขนาด และจำนวน ถ้าเด็กเริ่มเล่น ครูควรเริ่มต้นด้วยการซ้อนบล็อกที่มีขนาดหรือรูปทรงเดียวกันประมาณ 3-4 ชิ้น ให้เด็กนำไปเก็บในชั้น ครูอาจช่วยเด็กรื้อบล็อกที่สร้างเสร็จ แล้วถ้าสิ่งก่อสร้างนั้นใหญ่มาก ครูช่วยคิดกาวิธีรื้อและช่วยเหลือให้เก็บเข้าที่โดยใช้คำพูดแสดงให้เห็นว่าแบ่งงานกันทำ บางครั้งครูอาจให้เด็กใช้รถลากขนาดเล็กบรรจุไม้บล็อกเป็นการทุ่นแรงในการข้นย้ายเพื่อเก็บเข้าที่ การเก็บของที่ดำเนินไปอย่างร่วมมือ สนุกสนาน และอบอุ่นทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ทำให้เด็กเต็มใจที่จะเก็บของในวันต่อ ๆ ไป
6. บทบาทครูที่มีต่อเด็กปฐมวัยที่ต่างวัย
เนื่องจากพัฒนาการของเด็กวัยเตาะแตะและเด็กอนุบาลมีความแตกต่างกัน ครูจึงต้องมี
บทบาทในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับวัยของเด็ก

2.5 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเล่นมุมบล็อก
งานวิจัยในต่างประเทศ
บีซีวีกิส (Besevegis.1983:161) ได้ศึกษาพัฒนาการการเล่นเชิงละครและการเล่นเชิงสรรค์
สร้างในเด็กปฐมวัยชาวกรีก จำนวน 100 คน ซึ่งมีอายุ 3.5 – 6.5 ปี โดยกลุ่มการเล่นเชิงละครได้เล่นมุมบ้านซึ่งมีของเล่น เช่น ตุ๊กตา ส่วนการเล่นเชิงสรรค์สร้างจะเล่นบล็อกไม้ ผลการศึกษาพบว่า การเล่นเชิงละครและการเล่นเชิงสรรค์สร้างมีแนวโน้มจะพัฒนาขึ้นตามวัยของเด็ก
เชียง (Chiang.1985:181) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความแตกต่างด้นพัฒนาการในการใช้
วัตถุการเล่น โดยศึกษากับเด็กอายุ 3- 5 ปี และ 7 ปี พบว่าจำนวน 57 คน ใช้การสังเกตการณ์ตามธรรมชาติ ผลการศึกษาพบว่า ความสัมพันธ์กับชนิดการเล่นเชิงความรู้ความเข้าใจเชิงสังคม และการใช้วัสดุขึ้นอยู่กับระดับอายุเป็นสำคัญ
แอ็ตคินสัน (Atkinson.1987 : 228) ได้ศึกษาการเล่นโดยธรรมชาติของเด็กปฐมวัย อายุ 1-3
ปี แต่ละกลุ่มอายุห่างกัน 6 เดือนรวม 20 คน โดยจัดให้อยู่ในสภาพแวดล้อมการเล่นตามธรรมชาติ และนำมาไว้ในห้องทดลองที่ไม่มีของเล่น พบว่า พฤติกรรมการเล่นของเด็กทั้ง 2 กลุ่ม ขึ้นอยู่กับอายุ และความสัมพันธ์โดยตรงเชิงบวกระหว่างขั้นการเล่นและระดับวุฒิภาวะในการเล่น

งานวิจัยในประเทศ
สิริกุล จารุจินดา (2526:41) ได้ศึกษาอิทธิพลของการเล่นประเภทเสริมต่อ (Block Play) ต่อ
ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กก่อนวัยเรียนพบว่า การเล่นของเด็กประเภทเสริมต่อมีผลทางบวกต่อคะแนนความคิดสร้างสรรค์
สุวัฒน์ วรานุสาสน์ (2526: บทคัดย่อ ) ได้ศึกษาประสิทธิภาพของเครื่องเล่นที่ส่งผลต่อ
พัฒนาการความพร้อมทางการเรียน 4 ด้าน ของเด็กก่อนวัยเรียน พบว่า ชุดเครื่องเล่นสนามส่งผลต่อการพัฒนาความพร้อมทางการเรียนด้านความสามารถทางภาษา จำนวนและจำแนกมิติสัมพันธ์ทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ จิตใจและสังคม
อิชยา แสงบรรเจิดศิลป์ (2538:43) ได้ศึกษาเรื่องการเล่นมุมไม้บล็อกเพื่อพัฒนาความสามารถทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัย พบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นมุมไม้บล็อกแบบเต็มรูปแบบ มีความสามารถทางสติปัญญา สูงกว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นมุมไม้ล็อกแบบปกติ
ณัฎฐาพร พงษ์สิงห์ (2539:49) ได้ศึกษาเรื่อง พฤติกรรมชอบสังคมของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นบล็อกกลางแจ้งเป็นกลุ่มอย่างมีแบบแผน พบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นบล็อกกลางแจ้งเป็นกลุ่มอย่างมีแบบแผน มีพฤติกรรมชอบสังคมแตกต่างกันกับเด็กปฐมวัยที่ได้รับประสบการณ์การเล่นบล็อกกลางแจ้งอิสระอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
จุฬารัตน์ อินนุพัฒน์ (2543:58) ได้ศึกษาเรื่องพัฒนาการทางการพูดของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นมุมบล็อก พบว่า การจัดประสบการณ์การเล่นบล็อกแบบเต็มรูปแบบและแบบปกติ ทั้ง 2 แบบต่างส่งเสริมพัฒนาการทางการพูดได้อย่างดี เด็กสามารถสร้างผลงานจากอุปกรณ์ที่มีในมุมบล็อกได้ตามต้องการ เด็กได้แสดงความคิดสร้างสรรค์และเสนอผลงานของตนเอง


บทที่ 3

วิธีดำเนินการวิจัย

ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
2. เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย


1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยค้นคว้าครั้งนี้ เป็นนักเรียน ชาย – หญิง อายุระหว่าง 4 – 5 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี
กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียน ชาย – หญิง อายุระหว่าง 4 -5 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี จำนวน 8 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling)

2. เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้มีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยดังนี้
1. แผนการจัดกิจกรรมการเล่นมุมบล็อก
2. แบบสังเกตพัฒนาการการเล่นมุมบล็อก
3. แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย

3 comments:

Unknown said...

แผนการจัดกิจกรรมการเล่นมุมบล็อค

Anonymous said...

How to stream youtube live shows on youtube? - Video
If you enjoy videos with great quality, your chances are excellent. You can watch all your favorite shows for free and watch Aug 18, 2018 · Uploaded download youtube videos to mp3 by VideoLINK.cc

zajzonjadienne said...

The Casino Bonus - The Casino Poker Directory
The 벳 플릭스 Casino 이 스포츠 Bonus. The 데일리 벳 casino poker scene isn't underground anymore. A 뉴 포커 디펜스 few poker 세븐 포커 족보 sites now offer the option to take your wagers,